วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน – ความคิดคณิตศาสตร์ 1



คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันความคิดคณิตศาสตร์  1

คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน – ความคิดคณิตศาสตร์ เรียบเรียงจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ดังนี้

1. จุฑามาศ ศุภนคร   เอกสารการสอน ( ไฟล์ pdf )    “ คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน – ความคิดคณิตศาสตร์ “   คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
2. สมวงษ์ แปลงประสพโชค  “ เกมทายเลข 3 หลัก “ วารสารคณิตศาสตร์ ฉบับเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2536
3. นิราศภูเขาทอง ผลงานสุนทรภู่ “   http://hilight.kapook.com/view/72381
4. Martin Gardner   “ Nine Digit Problem “    Wheels, Life and Other Mathematical Amusements  หน้า 171 172 และ 179
5. http://www.puzzles.com
6. http://th.wikipedia.org/wiki/แฮร์รี่_พอตเตอร์
7. http://en.wikipedia.org/wiki/Multiplication


คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
     กิจกรรมอย่างหนึ่งที่คนทุกคนทำเป็นประจำทุกวันก็คือ “คิด”   การคิดเป็นกระบวนการทางสมองซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก   คนเราจะมีความคิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด และอิริยาบถใด นักจิตวิทยาจำแนกการคิดของคนเราออกเป็น  2  ลักษณะ คือ การคิดโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย (undirected thinking) และการคิดอย่างมีจุดมุ่งหมาย (the goal – directed thinking)  โดยมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้

     1.  การคิดโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย หรือการคิดแบบเชื่อมโยง (associated thinking) เป็นการคิดที่เป็นอิสระจากการถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขภายนอก ได้แก่ การฝัน การฝันกลางวัน  การได้รับสิ่งกระตุ้นจากสิ่งหนึ่งอาจทำให้เราคิดสิ่งต่างๆ อีกมากมายที่มาเชื่อมโยงกับสิ่งกระตุ้นนั้น     ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud ค.ศ.1856 – 1939) นักจิตวิทยาวิเคราะห์เชื่อว่าการวิเคราะห์ผลจากการคิดแบบเชื่อมโยงสามารถช่วยให้เข้าใจปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนเราได้

    ตัวอย่างการคิดโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย เช่น
          ผู้ที่อยู่ในที่คุมขังฝันเห็นตนเองเป็นนกบินหนีออกไปได้
          การฝันถึงการประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่
          การเห็นรูปรถยนต์อาจทำให้เราคิดถึงรถยนต์ที่เราชอบแล้วคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีโอกาสเป็นเจ้าของ    
     ความคิดลักษณะนี้อาจทำให้เกิดผลงานที่ดีขึ้นได้ เช่น
          สุนทรภู่ ได้ประพันธ์นิราศภูเขาทองขณะที่อายุได้ 42 ปี และอยู่ในระหว่างการเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปีพ.ศ. 2371 โดยใจความของนิราศภูเขาทองได้พรรณนาเรื่องราวในช่วงเวลาหลังจากบวชมาหลายพรรษาแล้ว  ซึ่งระหว่างทางนั้นได้เกิดความอาลัยถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แม้ว่าท่านทรงเสด็จสวรรคตไปหลายปี โดยเมื่อเห็นภาพต่างๆ ระหว่างเดินทาง มักทำให้ย้อนนึกถึงเรื่องราวเมื่อครั้งอดีต  นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเปรยการใช้ชีวิตเมื่อยังหนุ่ม กับชีวิตในขณะปัจจุบันที่ผ่านการปฏิบัติธรรมทำให้มีมุมมองชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม

          ตัวอย่างบางส่วนของนิราศภูเขาทอง

                      ...
                       
               ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด                       คิดถึงบาทบพิตรอดิศร 
          โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร                  แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น
               พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด         ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
          ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น                            ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
                      ...

               ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง                 มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
          โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา                     ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
               ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ                  สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
          ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย                             ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
               ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก               สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
          ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป                         แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน
                      ...               

               ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์                    มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
          แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร                     จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
                      ...


           ใน พ.ศ. 2533  เจ. เค. โรวลิงกำลังอยู่ในรถไฟที่มีคนเนืองแน่นจากแมนเชสเตอร์ไปยังลอนดอน เมื่อแนวคิดแฮร์รี่ " ตกลงมาใส่หัวของเธอ "     โรวลิงเล่าถึงประสบการฯณ์บนเว็บไซต์ของเธอโดยระบุว่า
               ฉันเคยเขียนค่อนข้างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่อายุได้หกขวบ แต่ฉันไม่เคยตื่นเต้นกับแนวคิดไหนมาก่อน ฉันเพียงแค่นั่งลงและคิดเป็นเวลาสี่ชั่วโมง (รถไฟล่าช้า)  และทุกรายละเอียดก็ผุดขึ้นในสมองของฉัน และเด็กชายผอมกะหร่อง ผมดำ สวมแว่นตาผู้ไม่รู้ว่าตนเองเป็นพ่อมดนี้ก็ค่อยๆ กลายเป็นจริงขึ้นสำหรับฉัน



     2.  การคิดอย่างมีจุดมุ่งหมาย เป็นการคิดที่เกิดขึ้นเมื่อเราต้องการคำตอบหรือวิถีทางที่สมเหตุสมผลในการแก้ปัญหา  การคิดชนิดนี้มีเป้าหมายชัดเจน ได้แก่ การคิดแก้ปัญหา การคิดหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ เพื่อนำไปสู่การประดิษฐ์สิ่งแปลกใหม่ การคิดทฤษฎีหรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติ เป็นต้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น