วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

คณิตศาสตร์กับมายากล (1)



คณิตศาสตร์กับมายากล

          มายากลเป็นศิลปะการแสดงเพื่อความบันเทิง  โดยที่การแสดงจะมีลักษณะลวงตาผู้ชม เป็นการแสดงเหตุการณ์ที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นได้ราวกับว่าผู้แสดงมีเวทมนตร์ เช่น ดึงกระต่ายออกมาจากหมวก หรือทำให้ไพ่ที่ถืออยู่ในมือหายไป  เรียกผู้ที่แสดงมายากลว่า นักมายากล     และในขณะที่เราเรียนคณิตศาสตร์ ก็มักจะพบเรื่องที่ทำให้รู้สึกแปลกใจอยู่เสมอ ดังนั้นถ้าเราสามารถประยุกต์ความรู้ทางคณิตศาสตร์มาใช้ในการแสดงมายากลได้  เราก็จะได้ชื่อว่าเป็น นักมายากลคณิตศาสตร์สมัครเล่น



“ แก้วมหัศจรรย์ “
          นักมายากลคณิตศาสตร์สมัครเล่น  ( ซึ่งต่อไปจะขอเรียกสั้นๆ ว่า นักมายากล )  วางตะกร้าอุปกรณ์ที่เตรียมมาลงบนโต๊ะ

     - หยิบแก้วกระดาษที่ใช้สำหรับใส่กาแฟร้อนออกมาหนึ่งใบ (กำหนดเป็นแก้ว–1)  เอียงแก้วให้ผู้ชมเห็นว่าเป็นแก้วเปล่า แล้ววางบนโต๊ะ

     - เทข้าวโพดคั่ว (หรือขนมชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่เท่าๆ กับข้าวโพดคั่ว และผู้ชมรู้ได้ด้วยตนเองว่าถูกน้ำไม่ได้) ใส่ลงในแก้วพลางพูดว่า “ ขออนุญาตกินในระหว่างการแสดงนะครับ / คะ “

     - นักมายากลเทข้าวโพดคั่วจนสูงพูนเหนือขอบแก้ว  เสร็จแล้วมองไปทางผู้ชม และทำทีท่าเหมือนกับว่ามีผู้ชมบางท่านอยากกินข้าวโพดคั่ว จึงพูดขึ้นว่า  “ อ้าว มีผู้ชมท่านหนึ่งอยากกินข้าวโพดคั่วด้วย  ได้เลยครับ / ค่ะ “

     - นักมายากลดึงแก้วกระดาษขึ้นมาอีกหนึ่งใบ (แก้ว–2)  เอียงแก้วให้ผู้ชมเห็นว่าเป็นแก้วเปล่า แล้ววางบนโต๊ะ

     - เทข้าวโพดคั่วจากแก้วใบแรก (แก้ว–1) ลงในแก้วใบใหม่ (แก้ว–2) จนหมด  ซึ่งข้าวโพดคั่วจะสูงพูนขอบแก้วใบใหม่ในระดับเดียวกัน

     - นักมายากลก็พูดขึ้นว่า  “ แต่เมื่อกินข้าวโพดคั่วก็จะทำให้กระหายน้ำนะครับ / คะ   ดังนั้นก็จะให้น้ำ (หรือเครื่องดื่มอื่น) ไปดื่มด้วยครับ / ค่ะ “

     - นักมายากลดึงแก้วกระดาษขึ้นมาอีกหนึ่งใบ (แก้ว–3)  เอียงแก้วให้ผู้ชมเห็นว่าเป็นแก้วเปล่า แล้ววางบนโต๊ะ (ถ้ามีน้ำแข็งก็ใส่ลงไปด้วย)

     - นักมายากลหยิบแก้วใบแรก (แก้ว–1)  ซึ่งตามการรับรู้ของผู้ชมแล้วแก้วใบนี้ควรจะว่างเปล่า  เทน้ำออกมาจาก  “แก้ว–1”  ลงสู่  “แก้ว–3”


     (   ผู้ชมปรบมือด้วยความชื่นชมและจะรู้สึกแปลกใจไปพร้อมกันว่าทำได้อย่างไร    นักมายากลกล่าวขอบคุณผู้ชม       จบการแสดงชุด แก้วมหัศจรรย์  )





ทำได้อย่างไร

     มายากลชุดนี้มีต้นแบบมาจากรายการโทรทัศน์  แต่จำชื่อรายการไม่ได้แล้ว 

     มายากลชุดแก้วมหัศจรรย์จะใช้ความรู้เกี่ยวกับขนาดและรูปทรง

  ขั้นแรกเราต้องเตรียมอุปกรณ์ก่อน ให้หาแก้วกระดาษแบบเดียวกันแต่มีขนาดต่างกัน ใบใหญ่  2  ใบ  ใบเล็ก  3  ใบ



                      ใบใหญ่  2  ใบ             ใบเล็ก  3  ใบ




          ถ้านำแก้วใบใหญ่ซ้อนลงไปในแก้วใบเล็กก็จะเกิดที่ว่างระหว่างก้นแก้วทั้งสอง  ดังรูป


                                ใบใหญ่                    ใบเล็ก



                                เมื่อนำมาซ้อนกันจะเกิดช่องว่าง




          ใช้กรรไกรตัดแก้วใบใหญ่ทั้งสองใบในแนวระดับ  โดยให้เหลือขอบเหนือก้นแก้วเล็กน้อย  และต้องตัดแก้วใบใหญ่ทั้งสองใบให้เหลือความสูงเท่าๆ กัน



                    ใช้กรรไกรตัดส่วนบนของแก้วใบใหญ่ทั้งสอง




                                ส่วนที่เหลือเหมือนเป็นถ้วยเล็กๆ



          ขั้นต่อไปให้ตัด หรือเจาะก้นแก้วใบใหญ่  เจาะเพียงใบเดียวเท่านั้น  อีกหนึ่งใบไม่ต้องเจาะ  ขนาดของช่องที่เจาะก็จะต้องไม่ใหญ่เกินไปจนข้าวโพดคั่วหรือขนมหลุดผ่านไปได้ และต้องไม่เล็กมากจนน้ำหรือเครื่องดื่มไหลออกไม่สะดวก


                                                    เจาะก้นแก้วใบใหญ่หนึ่งใบ



          นำแก้วใบใหญ่ทั้งสองใบที่ตัดแต่งแล้วนี้ ซ้อนลงไปในแก้วใบเล็กคนละใบ  และควรใช้กาวช่วยให้แก้วใบใหญ่ติดแนบสนิทกับแก้วใบเล็ก   ในที่นี้จะเรียกชุดแก้วที่มีการเจาะรูว่า แก้ว–1   เรียกชุดแก้วที่ไม่เจาะรูว่า แก้ว–2   และเรียกแก้วปกติว่า แก้ว–3





          การเตรียมตัวก่อนแสดงมายากล  ให้เทน้ำหรือเครื่องดื่มลงใน แก้ว–1  ระมัดระวังอย่าให้มากเกินไป  เช็ด แก้ว–1 ให้สะอาดทั้งภายในและภายนอก   และควรทำเครื่องหมายบนปาก แก้ว–1 ( เพื่อความไม่ประมาท ) จะได้รู้ว่าต้องเทข้าวโพดคั่วออกทางด้านไหน  จะต้องเทน้ำออกทางด้านไหน  และควรซ้อมวิธีการเอียงแก้วเพื่อแสดงว่าเป็นแก้วเปล่าโดยไม่ให้ผู้ชมสังเกตเห็น “ รู “ ที่อยู่ก้นแก้ว

          จัดเก็บแก้วโดยเรียงตามลำดับการแสดง กล่าวคือ จะต้องหยิบ แก้ว–1 ขึ้นมาก่อน เพื่อใส่ข้าวโพดคั่ว ต่อไปก็หยิบ แก้ว–2  เพื่อรับข้าวโพดคั่วจาก แก้ว–1    และเพราะว่า แก้ว–2  มีการปรับแต่งเอาไว้แล้วดังนั้นจะทำให้ผู้ชมเห็นว่าปริมาณของข้าวโพดคั่วไม่ได้เปลี่ยนไป  และสุดท้ายหยิบ แก้ว–3  เพื่อรับน้ำจาก แก้ว–1  











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น