วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

คณิตศาสตร์กับมายากล (5)



“ คำทำนายที่ทำให้ประหลาดใจ “

     มายากลชุดนี้ยังคงใช้ไพ่ป๊อกเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้จำเป็นต้องใช้ไพ่ครบทั้งสำรับ  52  ใบ

     นักมายากลคณิตศาสตร์สมัครเล่นหยิบไพ่ป๊อกขึ้นมาหนึ่งสำรับ บอกกับผู้ชมว่าการแสดงมายากลชุดนี้จำเป็นต้องใช้ไพ่ครบทั้ง  52  ใบ  ดังนั้นจะนับไพ่ไปพร้อมกับผู้ชม  นักมายากลหยิบไพ่หงายลงไปทีละใบด้วยความเร็วพอสมควรพร้อมกับนับออกเสียงให้ได้ยินทั่วกัน  เมื่อนับได้  26  ใบ ก็หยุด และแยกไปเป็นกองที่หนึ่ง จากนั้นก็เริ่มนับใหม่อีกจนได้ครบ  26  ใบ ให้เป็นกองที่สอง   เสร็จแล้วก็รวบไพ่แต่ละกองวางคว่ำหน้าไว้

     นักมายากลหยิบไพ่กองที่สองขึ้นมาไว้ในมือ  บอกให้ผู้ชมสุ่มหยิบไพ่ออกมา  3  ใบ  ไพ่ที่เลือกนำมาวางหงายหน้าบนโต๊ะทีละใบ  เมื่อไพ่ทั้งสามใบพร้อมอยู่บนโต๊ะเรียบร้อยแล้ว  นักมายากลนำกระดาษเปล่ามาหนึ่งแผ่น บอกกับผู้ชมว่าจะเขียนทำนายไพ่หนึ่งใบไว้ล่วงหน้า แล้วจะเรียกไพ่ใบนี้ขึ้นมาให้ผู้ชมได้เห็น  จากนั้นนักมายากลเขียนคำทำนายลงไปแล้วส่งกระดาษแผ่นนั้นให้ผู้ชมถือไว้

     นักมายากลพูดกับผู้ชมว่า ลำดับต่อไปจะใช้ไพ่ที่เปิดหงายอยู่  3  ใบนี้เป็นหลัก  เริ่มต้นด้วยการนับจำนวนต่อจากหน้าไพ่โดยนับต่อไปให้ถึงสิบ  และพร้อมกับการนับนักมายากลวางไพ่ในมือคว่ำหน้าลงไปทีละใบ ( ไพ่ในมือขณะนี้คือไพ่กองที่สอง )  เช่น

      ถ้าเป็นไพ่หมายเลข 6  ก็นับต่อเป็นเจ็ด พร้อมกับวางไพ่ลงไปหนึ่งใบ    นับแปด วางไพ่หนึ่งใบ    นับเก้า วางไพ่หนึ่งใบ  และนับสิบ วางไพ่อีกหนึ่งใบ   ซึ่งจะทำอย่างเดียวกันนี้กับไพ่ทั้ง  3  ใบ

     สำหรับกรณีเป็นไพ่ A – เอซ  ถือว่าเป็นไพ่หมายเลข 1  ดังนั้นให้เริ่มนับต่อด้วยสอง   และถ้าเป็นไพ่หมายเลข 10  ,  ไพ่ J – แจ็ค  ,  ไพ่ Q – ควีน  และไพ่ K – คิง   จัดเป็นไพ่ที่มีค่าเป็น  10   ดังนั้นไม่ต้องนับต่อ  จึงไม่ต้องวางไพ่

     เสร็จแล้วนักมายากลนำไพ่ที่เหลือในมือไปวางซ้อนไว้บนไพ่กองที่ 1  

     ต่อไปบอกให้ผู้ชมช่วยคิด โดยนำหมายเลขของไพ่ หรือค่าของไพ่ทั้งสามใบมาบวกกัน  เช่น  สมมุติว่าไพ่ทั้ง  3  ใบ คือ  6 โพแดง  ,  J ข้าวหลามตัด และ A ดอกจิก   จะได้ผลบวกดังนี้   6 + 10 + 1  =  17

     เมื่อได้ผลบวกแล้ว  นักมายากลหยิบกองไพ่ขึ้นมา แล้ววางไพ่คว่ำหน้าลงไปพร้อมกับนับหนึ่ง  ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงไพ่ใบที่เป็นค่าของผลบวกนี้  นักมายากลไม่ได้วางไพ่ใบนี้ลงไป ยังคงถือไว้ในมือ และบอกให้ผู้ชมอ่านคำทำนายในกระดาษที่นักมายากลเขียนเอาไว้ล่วงหน้า   แล้วนักมายากลก็ว่างไพ่ใบนั้นลงไป  ซึ่งเป็นไพ่ใบเดียวกันกับคำทำนาย


  ( ผู้ชมปรบมือแสดงความชื่นชม     นักมายากลคำนับผู้ชม    จบการแสดงมายากลชุด คำทำนายที่ทำให้ประหลาดใจ )



 “มายากลคณิตศาสตร์ ชุด ทายไพ่
By M2G  จาก  http://www.youtube.com/watch?v=wz6RESLGY_o







 “กลคณิตศาสตร์ทายไพ่ By M2G  จาก  http://www.youtube.com/watch?v=EU7i9j0Ob1U









ทำได้อย่างไร

     มายากลชุดนี้ประยุกต์ใช้ความรู้เรื่อง “ การนับ “ ได้อย่างแนบเนียน

     ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่าในตอนเริ่มต้นการแสดงทำไมนักมายากลต้องนับไพ่ และทำไมเวลานับต้องหงายไพ่ด้วย


     เริ่มตั้งแต่การสุ่มไพ่  3  ใบ  ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีการเจาะจงว่าเป็นไพ่ใบใด ดังนั้นเมื่อพิจารณาอย่างละเอียดก็จะพบว่าการได้ไพ่ทั้ง  3  ใบ มีแบบต่างๆ กัน ดังนี้  A–A–A  ,  A–A–2  ,  A–A–3  ,  A–A–4  ,    ,  A–A–K  ,  A–2–A  ,    ,  K–K–K   

     หรือพิจารณาการจัดรูปแบบของไพ่ทั้งสามใบ โดยวิธีการทางคณิตศาสตร์ที่เรียกกันว่า “ แผนภาพต้นไม้ “  ซึ่งในที่นี้จะแสดงให้เห็นเพียงเล็กน้อยพอให้เข้าใจ เพราะถ้าแสดงทั้งหมดต้องใช้หลายหน้ากระดาษ ดังนี้







     ในการแสดงมายากลชุดนี้จะสนใจเฉพาะหมายเลขหรือค่าของหน้าไพ่เท่านั้น  รูปแบบต่างๆ ของการได้ไพ่ทั้งสามใบเราจึงไม่สนใจชุดหรือดอกของไพ่  เช่น จะเป็น 2 โพดำ หรือ 2 โพแดง  ก็ถือว่าเป็นไพ่หมายเลข  2  เหมือนกัน  ดังนั้นเมื่อจัดเรียงตามลำดับผลบวกของค่าของหน้าไพ่ทั้งสามใบจากน้อยไปหามาก  ก็จะเลือกแต่เฉพาะผลลัพธ์ที่มีความแตกต่างกันเท่านั้น

     ตารางต่อไปนี้จะแสดงให้เห็น หน้าไพ่ทั้งสามใบ , ผลรวมบนหน้าไพ่ , จำนวนไพ่ที่นับออกซึ่งมีสองส่วนคือ “นับต่อจากหน้าไพ่” และ “นับจากผลรวมบนหน้าไพ่”  และรวมจำนวนไพ่ทั้งหมดที่จะต้องมีการนับออก







     ขออธิบายข้อมูลจากตารางอีกเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยเพื่อช่วยให้เข้าใจว่าทำไมไม่แสดงหน้าไพ่ทั้งสามใบทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น เช่น

    - ไม่แสดงรูปแบบ  A–A–J   เพราะมีผลรวมหน้าไพ่เท่ากันกับรูปแบบ  A–A–10   ซึ่งจะทำให้มีการนับไพ่ออกด้วยจำนวนที่เท่ากัน

    - ไม่แสดงกรณีการสลับที่ของไพ่ซึ่งแม้จะได้รูปแบบที่ต่างกัน  เช่น  A–5–10  กับ  5–A–10  แต่ก็มีผลรวมหน้าไพ่เท่ากัน

    - ไม่แสดงรูปแบบ  A–3–4   เพราะ  เพราะมีผลรวมหน้าไพ่เท่ากันกับรูปแบบ  A–A–6  ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะต้องนับไพ่ออกเป็นจำนวนเท่ากัน

     สรุปว่าในตารางจะแสดงเฉพาะรูปแบบที่ทำให้ผลรวมบนหน้าไพ่มีค่าต่างกันเท่านั้น


     ดังนั้นจากตารางจะเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ว่าจะเปิดไพ่ทั้งสามใบออกมามีรูปแบบอย่างไรก็ตาม ผลสุดท้ายแล้วก็ต้องนำไพ่ออกจำนวน  30  ใบเท่ากัน


     คราวนี้ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น นักมายากลนับไพ่โดยการหงายให้เห็นหน้าไพ่ แล้วแบ่งออกเป็นสองกอง กองละ  26  ใบ  และเริ่มทำงานกับกองที่สองก่อน  โดยเปิดไพ่  3  ใบ  ดังนั้นไพ่กองที่สองมีการใช้ไพ่ไปแล้ว  3  ใบ  ตอนนี้ไพ่ในกองที่สองจะเหลือ  23  ใบ  แต่ไพ่จะต้องถูกนับออกทั้งหมด  30  ใบ   ก็ยังขาดอีก  7  ใบ  แสดงว่าจะต้องนำไพ่กองที่หนึ่งมารวมด้วยจึงจะเพียงพอ

     นั่นก็คือ ไพ่ในกองที่หนึ่งใบที่ 7 นับจากบน จะเป็นไพ่ที่นักมายากลเขียนทำนายไว้ล่วงหน้า  หมายความว่าในการนับไพ่ครั้งแรกซึ่งนับโดยการหงายไพ่  นักมายากลก็จะต้องจำไพ่ใบที่ 7  เอาไว้



หมายเหตุ    ขอให้ลองปรับเปลี่ยนวิธีการแสดงมายากลชุดนี้เป็นการเปิดไพ่  4  ใบ แทนการเปิดไพ่  3  ใบ  แต่การแสดงจะแตกต่างออกไป ดังนี้

     นักมายากลสุ่มหยิบไพ่ออกมา  12  ใบ จากกอง ( 52  ใบ ) ซึ่งถือในมือ  วางคว่ำหน้าไพ่ไว้ทั้ง  12  ใบ โดยไม่ให้ไพ่ซ้อนกัน  จากนั้นบอกให้ผู้ชมเลือกหงายไพ่ตามใจชอบ  4  ใบ  ในระหว่างที่ผู้ชมสนใจการเลือกหงายไพ่ นักมายากลจะแอบดูไพ่ก้นกอง (เพราะไพ่อยู่ในมือของนักมายากล)

     เมื่อผู้ชมเปิดไพ่ครบทั้ง  4  ใบแล้ว นักมายากลเก็บไพ่  8  ใบที่ไม่ใช้และยังคว่ำหน้าอยู่  นำไพ่ทั้ง  8  ใบ ไปซ้อนไว้ใต้กองไพ่ทั้งหมด  ( ขอย้ำว่าต้องนำไปไว้ก้นกอง และเชื่อว่าผู้อ่านคงหาเหตุผลได้ไม่ยาก )

     นักมายากลพิจารณาไพ่ที่เปิดอยู่  2 – 3  วินาที แล้วนำกระดาษมาเขียนคำทำนายไพ่ใบที่จะเรียกออกมา ซึ่งไพ่ใบที่เขียนก็คือไพ่ก้นกองที่นักมายากลแอบดูในครั้งแรกนั่นเอง

     จากนั้นดำเนินการแบบเดียวกับการแสดงมายากลที่ใช้ไพ่  3  ใบ ก็คือการนับไพ่ออก  โดยไพ่ที่หงายอยู่แต่ละใบนับต่อให้ครบสิบ  และนับตามผลบวกของหน้าไพ่ทั้ง  4  ใบ





     ต่อไปเป็นตัวอย่างและคำอธิบายการแสดงมายากลชุดที่เปิดไพ่  3  ใบ




ขั้นตอนที่ 1     นับไพ่โดยการหงายไพ่  และแบ่งเป็นสองกอง  กองละ  26  ใบ  ดังรูป







ไพ่กองที่หนึ่ง  26  ใบ (แสดงเฉพาะส่วนที่สำคัญ)



ไพ่กองที่สอง  26  ใบ (แสดงเพียงบางส่วน)



     ไพ่ใบแรกที่เปิดหงายลงไปคือ  4 ข้าวหลามตัด ดังนั้นเมื่อรวมกองและคว่ำหน้าลง  4 ข้าวหลามตัดก็จะกลายเป็นไพ่ใบแรกของกองที่หนึ่งซึ่งจะมีทั้งหมด  26  ใบ  จะเห็นว่าไพ่ใบที่ 7  คือ  2 ดอกจิก จะเป็นไพ่ที่ใช้เขียนทำนายล่วงหน้า


ขั้นตอนที่ 2     สุ่มเลือกไพ่จากกองที่สองออกมา  3  ใบ เปิดหงายไว้  และเขียนคำทำนาย

     สมมุติว่าไพ่ที่สุ่มได้ทั้งสามใบ คือ  9 ข้าวหลามตัด  ,  แจ๊คโพดำ  และ  6 ดอกจิก  (ดังรูป)  และเขียนคำทำนายเป็นไพ่  2  ดอกจิก






ขั้นตอนที่ 3     “ นับต่อให้ครบสิบ “

      ใบแรกคือ  9  นับเพิ่มอีก  1  ใบ     ใบที่สองคือ
J  มีค่าเป็น 10  ไม่ต้องนับเพิ่ม  และ ใบสุดท้าย คือ  6  นับเพิ่มอีก  4  ใบ






ขั้นตอนที่ 4     นับไพ่ออกเท่ากับผลบวกบนหน้าไพ่

     เก็บไพ่ที่คว่ำออกไป  ผลบวกของหน้าไพ่คือ    9 + 10 + 6  =  25    นำไพ่กองที่สองที่เหลือซึ่งอยู่ในมือไปวางซ้อนบนไพ่กองที่หนึ่ง แล้วนับไพ่คว่ำหน้าลงไปทีละใบจนถึงใบที่ 24  ให้หยุดแค่นี้ก่อน

     หยิบใบที่ 25 ขึ้นมา แต่ยังไม่หงายไพ่  บอกให้ผู้ชมอ่านคำทำนายที่เขียนไว้ แล้วหงายให้เห็นว่าเป็นไพ่ใบเดียวกัน คือ ไพ่  2  ดอกจิก  




คณิตศาสตร์กับมายากล  ชุด “ คำทำนายที่ทำให้ประหลาดใจ “  เรียบเรียงจากแหล่งความรู้ต่างๆ ดังนี้

1. ด.ช.ดอน ดินแดง. เกมสนุกของเด็ก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ เทพพิทยา, 2514.

2. http://www.youtube.com/watch?v=wz6RESLGY_o

3. http://www.youtube.com/watch?v=EU7i9j0Ob1U





1 ความคิดเห็น: