วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

คณิตศาสตร์กับมายากล (4)



“ ความลับของไพ่  15  ใบ “

     นักมายากลคณิตศาสตร์สมัครเล่นหยิบไพ่ป๊อกขึ้นมาหนึ่งสำรับ  แจกไพ่ลงไปให้เป็นสามกอง  โดยแจกไพ่คว่ำหน้าลงไปทีละใบจากซ้ายไปขวา   แล้ววนกลับมาเริ่มใหม่จนทุกกองมีไพ่กองละ  5  ใบ  ไพ่ที่เหลือก็วางไว้และไม่ต้องไปสนใจมันอีก

     นักมายากลบอกให้ผู้ชมคนหนึ่งเลือกดูไพ่จากกองใดกองหนึ่งก็ได้แล้วจำไพ่เอาไว้หนึ่งใบ จะให้ผู้ชมหลายคนช่วยกันจำก็ได้    นักมายากลจะทายไพ่ใบนี้ให้ถูกต้อง

     เมื่อผู้ชมตัดสินใจเลือกไพ่เสร็จเรียบร้อยแล้วนักมายากลรวมไพ่ทั้งสามกองเข้าเป็นกองเดียวกัน โดยในการรวมกองไพ่ให้เก็บกองที่มีไพ่ที่ผู้ชมเลือกเอาไว้เป็นกองกลาง หรือคือเก็บเป็นกองที่สอง

     นักมายากลแจกไพ่เหมือนครั้งแรกคือแจกคว่ำหน้าเรียงหนึ่งจากซ้ายไปขวาให้ได้  3  กอง  แล้วแจกไพ่ทับลงไปจากซ้ายไปขวาเช่นเดิม ทำอย่างนี้จนไพ่หมดมือ  ตอนนี้ก็จะมีไพ่  3  กอง กองละ  5  ใบ เหมือนเดิม

     นักมายากลบอกให้ผู้ชมตรวจดูว่าตอนนี้ไพ่ใบที่เลือกไว้นั้นอยู่ในกองใด ( สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คืออย่าให้ไพ่ในกองมีการเปลี่ยนลำดับ ) เมื่อผู้ชมบอกว่าพบไพ่อยู่ที่ในกองใดแล้ว  นักมายากลก็รวมไพ่เข้าเป็นกองเดียวกันโดยให้กองที่มีไพ่ใบสำคัญอยู่ตอนกลาง ( อย่าลืมเป็นอันขาดว่ากองที่มีไพ่ใบสำคัญต้องเก็บเอาไว้ตอนกลาง )

     แจกไพ่ด้วยวิธีการเดิมอีกครั้ง  บอกให้ผู้ชมหาไพ่ที่เลือกไว้  และเก็บไพ่เป็นกองเดียวกันด้วยวิธีเดิม  ( ตอนนี้ไพ่ใบที่เลือกจะอยู่ตรงกลางกองพอดี หรือคือเป็นไพ่ใบที่ 8 )

     นักมายากลหงายไพ่ลงไปทีละใบ นับในใจไปด้วยจนถึงไพ่ใบที่ 8  ( นักมายากลจำไพ่ใบนี้ไว้ ) แต่ก็ยังเปิดต่อไปจนไพ่หมดมือ  ถึงตอนนี้นักมายากลแสดงให้เห็นเหมือนกับว่ากำลังส่งกระแสจิตเพื่อมองหาไพ่ใบที่ผู้ชมเลือกไว้   สักครู่ก็ไปเลือกหยิบไพ่ใบสำคัญนั้นขึ้นมาบอกว่าผู้ชมเลือกไพ่ใบนี้


    ( ผู้ชมปรบมือ     นักมายากลกล่าวขอบคุณ        จบการแสดงมายากลชุด ความลับของไพ่  15  ใบ )


      “เฉลยกลไพ่ 15 ใบทายถูก.wmv” จาก http://www.youtube.com/watch?v=sgup86zDqxI   ซึ่งในตอนแสดงคำตอบมีการเพิ่มความน่าสนใจโดยใช้ข้อความในการเปิดไพ่   คำที่ใช้ คือ  “ ไพ่ – คุณ – อยู่ – นี่ “







      “Crazy 15 card trick.” จาก http://www.youtube.com/watch?v=yhd9_6e1J6Q&feature=related










ทำได้อย่างไร

     เคล็ดลับของมายากลชุดนี้มีสองประการ คือ วิธีการแจกไพ่เรียงจากซ้ายไปขวา  (หรือจากขวาไปซ้ายก็ได้ตามความถนัด)  และการเก็บไพ่รวมกองโดยให้กองที่มีไพ่ใบที่เลือกอยู่ตอนกลาง   มาดูกันว่าสองเรื่องนี้ทำงานสัมพันธ์กันอย่างไร


ขั้นตอนที่ 1   แจกไพ่คว่ำหน้าเรียงทีละใบจากซ้ายไปขวา ให้ได้  3  กอง กองละ  5  ใบ

     ความจริงแล้วการแจกไพ่ครั้งแรกโดยเรียงจากซ้ายไปขวาก็เพื่อให้ผู้ชมมีความรู้สึกว่าการแจกไพ่ในครั้งต่อๆ ไป ( ซึ่งมีผลต่อการแสดงมายากลชุดนี้ ) ยังคงมีวิธีการเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป  สมมุติว่าเมื่อแจกไพ่เสร็จแล้ว ในแต่ละกองมีไพ่เรียงกันดังรูป
  ( ในรูปแสดงให้เห็นไพ่ครบทุกใบ ซึ่งความจริงแล้วไพ่จะรวมอยู่เป็นกอง )





                   กองที่ 1                กองที่ 2              กองที่ 3


    เนื่องจากในการแสดงมายากลจะแจกไพ่โดยคว่ำหน้าลงไป  ดังนั้นในกองที่ 1  ไพ่ก้นกองคือ  4 โพดำ   ในกองที่ 2  ไพ่ก้นกอง คือ 6 โพดำ  และในกองที่ 3  ไพ่ก้นกอง คือ  แจ๊คข้าวหลามตัด


ขั้นตอนที่ 2   ผู้ชมเลือกไพ่หนึ่งใบและจำไว้

    สมมุติว่าผู้ชมเลือกไพ่แหม่มโพแดง ซึ่งอยู่ในกองที่ 3


ขั้นตอนที่ 3   นักมายากลรวมไพ่เป็นกองเดียว โดยให้กองที่ 3  อยู่ตอนกลาง


     สมมุติว่า เก็บกองที่ 2  ก่อน ดังนั้นกองที่ 2 จะอยู่ล่างสุด  ต่อไปเก็บกองที่ 3  และเก็บกองที่ 1  เป็นกองสุดท้ายซึ่งจะอยู่ตอนบน  ดังนั้นไพ่ 6 โพดำจะอยู่ก้นกอง ดังรูป





ขั้นตอนที่ 4   แจกไพ่คว่ำหน้าเรียงทีละใบจากซ้ายไปขวาให้เป็น  3  กอง กองละ  5  ใบ

            จะได้ผลดังรูป





     ขอให้สังเกตว่าไพ่จากกองที่ 3  ซึ่งได้แก่  แหม่มโพแดง  ,  2 โพดำ  ,  เอซดอกจิก  ,  5 โพแดง และแจ๊คข้าวหลามตัด  จะกระจายไปอยู่ในทุกกอง   ( ไพ่ทุกใบคว่ำหน้าอยู่ )


ขั้นตอนที่ 5   ผู้ชมตรวจดูอีกครั้งว่าไพ่ใบที่เลือกไว้อยู่ในกองใด  จากนั้นรวมไพ่เข้าเป็นกองเดียวกันด้วยวิธีการเดิม

    ตามตัวอย่างนี้ไพ่ใบที่เลือกคือแหม่มโพแดงจะอยู่ในกองที่ 3   เก็บไพ่กองที่ 3  ไว้ตอนกลาง  สมมุติว่าเก็บกองที่ 1  ก่อน  ตามด้วยกองที่ 3  และกองที่ 2    ซึ่งกองที่ 2 จะเป็นกองที่อยู่ด้านบนของกองใหม่    ดังรูป




ขั้นตอนที่ 6   แจกไพ่คว่ำหน้าเรียงทีละใบจากซ้ายไปขวา ให้เป็น  3  กอง กองละ  5  ใบ

     จะได้ผลดังรูป





      จะเห็นได้ว่าไพ่แหม่มโพแดงจะอยู่ตรงกลางพอดี  ดังนั้นเมื่อเก็บไพ่รวมกองด้วยวิธีการเดิม ไพ่แหม่มโพแดงก็จะไปอยู่เป็นไพ่ใบที่ 8



     หมายเหตุ    เราสามารถพลิกแพลงการแสดงได้หลากหลายแบบ เช่น

     - เพิ่มจำนวนไพ่เป็น  21  ใบ แจกเป็น  3  กอง กองละ  7  ใบ  

     - เพิ่มจำนวนไพ่เป็น  25  ใบ แจกเป็น  5  กอง กองละ  5  ใบ  

     - ใช้วิธีหงายไพ่ทุกครั้งโดยเรียงให้เป็นแถวแล้วให้ผู้ชมเลือกไพ่ไว้ในใจแล้วชี้ว่าไพ่ที่เลือกอยู่ในกองใด   ซึ่งการแสดงมายากลวิธีนี้จะช่วยให้เร็วขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดการสับเปลี่ยนลำดับของไพ่




คณิตศาสตร์กับมายากล  ชุด “ ความลับของไพ่  15  ใบ “  เรียบเรียงจากแหล่งความรู้ต่างๆ ดังนี้

1. ด.ช.ดอน ดินแดง. เกมสนุกของเด็ก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ เทพพิทยา, 2514.

2. http://www.boyscouttrail.com/cub-scouts/magic_tricks.asp

3. http://www.youtube.com/watch?v=sgup86zDqxI

4. http://www.youtube.com/watch?v=yhd9_6e1J6Q&feature=related



























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น