วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความคิดสร้างสรรค์ 05 ( เทคนิคการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ 1 )



เทคนิคการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
            1.  เทคนิคความกล้าที่จะริเริ่ม  จากการวิจัยพบว่าความคิดสร้างสรรค์ต่ำสามารถปลูกฝังและส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้นได้ ด้วยการถามคำถาม และให้โอกาสได้คิดคำตอบในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้  แม้บุคคลที่มีความคิดว่าตนเองไม่มีความคิดสร้างสรรค์ก็สามารถสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นด้วยการฝึกฝน


ภาพจาก   https://www.facebook.com/CreativeThinkingSkills?directed_target_id=0


            2.  เทคนิคการสร้างความคิดใหม่  เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้การแก้ไขปัญหา วิธีการสร้างความคิดใหม่วิธีหนึ่งคือให้บุคคลแจกแจงแนวทางที่สามารถใช้ในการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งมา 10  แนวทาง จากนั้นจึงแบ่งแนวทางเหล่านั้นออกเป็นแนวทางย่อยๆ ลงไปอีก โดยเหตุผลที่ว่าบุคคลมักจะปฏิเสธไม่ยอมรับความคิดแรกหรือสิ่งแรกผ่านเข้ามาในจิตใจ แต่จะพยายามบังคับให้จิตใจแสดงทางเลือกอื่นๆ อีก   จึงมีลักษณะเป็นการผสมผสานหรือการคัดเลือกคำตอบ หรือทางเลือกต่างๆ แล้วสร้างขึ้นเป็นคำตอบหรือทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา



ภาพจาก   http://taamkru.com/?page=11&show=


            3.  เทคนิคการระดมพลังสมอง เป็นเทคนิควิธีหนึ่งในการแก้ปัญหา  จุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้บุคคลมีความคิดหลายทาง คิดได้คล่องในช่วงเวลาจำกัด โดยการให้บุคคลเป็นกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้ จดรายการความคิดต่างๆ ที่คิดได้โดยไม่คำนึงถึงการประเมินความคิด แต่เน้นปริมาณความคิด คิดให้ได้มาก คิดให้แปลก หลังจากได้รวบรวมความคิดต่างๆ แล้ว จึงค่อยประเมินเลือกเอาความคิดที่ดีที่สุดมาใช้ในการแก้ปัญหา และจัดลำดับทางเลือกหรือทางแก้ปัญหารองๆ ไว้ด้วย


ภาพจาก   http://blog.vee-ra.com /พลังสมอง-ความคิดบวก/


                หลักเกณฑ์ในการระดมสมอง
               3.1  ประวิงการตัดสินใจ   เมื่อบุคคลเสนอความคิดขึ้นมา จะไม่มีการวิพากษ์ วิจารณ์ หรือตัดสินความคิดใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่เห็นว่าดี มีคุณภาพ หรืออาจมีประโยชน์น้อยก็ตาม การตัดสินใจยังไม่กระทำในตอนเริ่มต้นคิด
               3.2  อิสระทางความคิด   บุคคลมีอิสระที่จะคิดหาคำตอบ หรือเสนอความคิด ความคิดยิ่งแปลกแตกต่างจากผู้อื่นยิ่งเป็นความคิดที่ดี เพราะความคิดแปลกแยกอาจนำไปสู่ความคิดริเริ่ม
               3.3  ปริมาณความคิด   บุคคลยิ่งคิดได้มาก ได้เร็ว ยิ่งเป็นที่ต้องการส่งเสริมและกระตุ้นให้บุคคลคิดมากๆ ได้ยิ่งดี
               3.4  การปรุงแต่งความคิด   ความคิดที่ได้เสนอไว้ทั้งหมด นำมาพิจารณาตัดสินจัดลำดับความสำคัญของความคิด โดยใช้เกณฑ์กำหนดในเรื่องของเวลา บุคคลงบประมาณ ประโยชน์ เป็นต้น


            4. เทคนิคอุปมาอุปไมยความเหมือน  เป็นวิธีการที่ใช้หลักการคิด  2  ประการ คือ  “ทำสิ่งที่คุ้นเคยให้เป็นสิ่งแปลกใหม่”  และ  ทำสิ่งที่แปลกใหม่ให้เป็นสิ่งที่คุ้นเคย”   กล่าวคือ การคิดจากสิ่งที่บุคคลคุ้นเคย รู้จัก ไปสู่สิ่งที่แปลกใหม่ หรือยังไม่คุ้นเคย และในทำนองเดียวกันก็อาจคิดจากสิ่งที่แปลกใหม่ ไม่คุ้นเคย ไปสู่สิ่งธรรมดาหรือคุ้นเคย ซึ่งจากความคิดลักษณะนี้ทำให้นักคิดสร้างสรรค์สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ได้มาก ตัวอย่างเช่น การคิดเข็มฉีดยาก็เกิดความคิดจากการที่ถูกยุงกัดและดูดเลือดขึ้นมา เป็นต้น
            การคิดจากสิ่งที่คุ้นเคยไปสู่สิ่งแปลกใหม่ และคิดจากสิ่งแปลกใหม่ไปสู่สิ่งคุ้นเคย ทำได้โดยใช้การเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย จากรูปลักษณะ หรือหน้าที่ของสิ่งที่คิด
            วิธีการนี้มักจะเน้นการแสดงความคิดและอารมณ์ผสมผสาน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์โดยการใช้ลักษณะความเหมือนหรือความคล้ายคลึงของสิ่งของ ซึ่งการคิดลักษณะเช่นนี้ ทำให้ความคิดเจริญงอกงาม บุคคลสามารถเข้าใจสิ่งใหม่ๆ ได้โดยการเปรียบเทียบกับสิ่งเก่าที่เป็นที่รู้จักกันดีแล้ว  ตัวอย่างเช่น สมัยก่อนเราเรียกรถไฟว่า ม้าเหล็ก”  และพยายามอ้างถึงสิ่งที่รู้จักอยู่ตลอดเวลา เช่น มักจะพูดว่า ค้อนมีหัว”   “โต๊ะมีขา”   “ถนนมีไหล่เป็นต้น



             วิธีการคิดอุปมาอุปไมยจากลักษณะความเหมือนมีดังนี้
               4.1  เปรียบเทียบความเหมือนโดยตรง (Direct Analog) เป็นเปรียบเทียบในรูปลักษณะที่เป็นจริงทั้งความรู้และเทคโนโลยีในสิ่งที่นำมาพิจารณา ตัวอย่างเช่น Sir March Isumbard Brunel สังเกตหนอนชนิดหนึ่งที่ขุดรูอยู่เป็นทางยาวคล้ายๆ ท่อตามต้นไม้ ตัวเขาเองกำลังคิดสร้างท่อน้ำใต้ดินอยู่ จึงคิดเปรียบเทียบท่อน้ำใหญ่ และรังของหนอนมีลักษณะคล้ายกัน แต่มีวิธีการสร้างรังของหนอนเป็นที่น่าสังเกต เพราะมันมีอวัยวะที่ใช้ขุดไชเข้าไปในเนื้อเป็นรูปยาวคล้ายรังหนอนได้เหมือนกัน การเปรียบเทียบลักษณะนี้ทำให้เขาประดิษฐ์เครื่องขุดท่อใต้ดินได้สำเร็จ
               4.2  การเปรียบเทียบความรู้สึกของตนเอง (Personal Analog) การนำเอาสิ่งของสถานการณ์เข้ามาเป็นความรู้สึกของตนเอง โดยทำให้ตนเองเข้ามามีบทบาทไปตามสถานการณ์นั้น อาจจะทำให้ตัวเราสามารถหาทางแก้ปัญหาได้ เช่น นักเคมี อาจคิดเทียบตัวเองเป็นเหมือนโมเลกุลของธาตุชนิดหนึ่งที่พยายามทำปฎิกิริยาของธาตุอื่น  ฟาราเดย์ได้พยายามทำความเหมือนของตนเองให้เข้าไปอยู่ในใจกลางของสารนำไฟฟ้า เพื่อที่จะทำให้เห็นลักษณะของอะตอมได้โดยสร้างภาพความคิด  หรือเคคคูล (Kekule) พยายามคิดว่าตนเองมีความรู้สึกเหมือนงูที่กำลังกินหางตนเอง ขณะที่เขากำลังคิดถึงลักษณะโมเลกุลของเบนซิงริง ซึ่งมีความน่าจะเป็นมากกว่าโมเลกุลของคาร์บอนที่มีอะตอมจับกันเป็นลูกโซ่เป็นต้น
               4.3  การเปรียบเทียบกับสัญลักษณ์ (Symbolic Analog) เป็นการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ หรือปัญหา หรือสถานการณ์ให้เป็นไปในลักษณะของสัญลักษณ์ ซึ่งอาจเป็นการใช้ภาษาแต่งเป็นโคลง ฉันท์กาพย์กลอน หรือ ข้อความบรรยายแสดงออกซึ่งความมีสุนทรียภาพ การใช้สัญลักษณ์ในการเปรียบเทียบมักจะได้ความคิดที่ฉับพลันทันที และได้ภาพพจน์ชัดเจน
               4.4  การเปรียบเทียบโดยใช้ความคิดฝัน (Fantastic Analog) ทุกคนมีความปรารถนาหรือความใฝ่ฝันในบางสิ่งบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ภายในใจเสมอ ความคิดฝันนั้นอาจถ่ายทอดออกมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่า และในบางครั้งความคิดฝันอาจนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ โดยเราไม่พะวงว่าความคิดนั้นจะต้องเป็นจริงเสมอไป

            การใช้กระบวนการอุปมาอุปไมย เพื่อเสริมสร้างพลังทางความคิดสร้างสรรค์จำเป็นจะต้องมีการฝึกเปรียบเทียบความคิดเปรียบเทียบ เพื่อนำสิ่งที่แปลกใหม่เข้าสู่แนวความคิดในการแก้ไขปัญหา หรือสร้างสรรค์ผลงานที่มนุษย์ต้องการเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น



ภาพจาก   http://www.l3nr.org/posts/528403


            ขั้นตอนการฝึกการคิดเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย
          ขั้นที่ 1  นำเข้าสู่แนวคิดเปรียบเทียบสิ่งที่กำหนดให้ว่าเหมือนอะไร เช่น
                        คำถาม         ที่เหลาดินสอเหมือนกับอะไร
                        คำตอบ         รถตัดหญ้า  เครื่องบดปลาหมึก  กว้านสมอเรือ
          ขั้นที่ 2  เปรียบเทียบโดยตรง เปรียบเทียบได้ว่าเหมือนอย่างไร เช่น
                        รถตัดหญ้าเหมือนที่เหลาดินสออย่างไร
          ขั้นที่ 3  เปรียบเทียบกับความรู้สึกของตนเอง ใช้ความรู้สึกตนเอง เช่น
                        ถ้าเป็นต้นหญ้าท่านจะรู้สึกอย่างไร
          ขั้นที่ 4  เปรียบเทียบว่าเหมือนอย่างหนึ่งแต่ไม่เหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง  เช่น
                        หยดน้ำฝนเหมือนน้ำตา แต่ไม่เหมือนเมฆ 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น