วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความคิดสร้างสรรค์ 13 กิจกรรมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (2)



 เกมที่สร้างความรู้ด้วยตนเอง (Games That Build Self-Knowledge)

เกมกองซ้อนลูกบาศก์
ภาพรวมของเกม
     ในเกมนี้จัดแบ่งนักเรียนผู้เข้าร่วมการแข่งขันไปยืนรอบโต๊ะ ซึ่งบนโต๊ะแต่ละตัวจะมีลูกบาศก์จำนวนหนึ่งวางไว้   ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะต้องระบุจำนวนลูกบาศก์ที่เขาคิดว่าสามารถนำมาวางเรียงซ้อนกันในแนวตั้งหนึ่งหลักได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด   จากนั้นผู้เข้าแข่งขันสร้างกองซ้อนด้วยลูกบาศก์ และเมื่อหมดเวลาจะเปรียบเทียบผลงานที่ทำได้จริงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้   ผู้เข้าแข่งขันยังมีโอกาสอีกครั้งที่จะตั้งเป้าหมายและแข่งขันกับคนอื่นๆ  เพื่อทำคะแนนให้มากขึ้น  และในรอบที่สามจะมีการแข่งขันเป็นทีม


https://www.izziwizzikids.co.uk/soft-baby-stacking-cubes


ประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับดังนี้
          1.  เปรียบเทียบเป้าหมายที่ตั้งไว้กับประสิทธิภาพที่แท้จริง
          2.  สังเกตผลกระทบของแรงจูงใจในความสำเร็จที่มีบทบาทต่อพฤติกรรมการตั้งเป้าหมาย
          3.  ชื่นชมความยากลำบากของการสร้างเป้าหมายในสิ่งที่ไม่เคยมีประสบการณ์
          4.  ประสบการณ์ในพฤติกรรมการตั้งเป้าหมายของทีม

วัตถุประสงค์ของกิจกรรม
     หลังจากที่มีส่วนร่วมในเกม และการอภิปรายเมื่อจบเกม  นักเรียนควรจะสามารถ
          1.  มีทัศนคติที่เป็นจริงมากขึ้นในการตั้งเป้าหมายของความสำเร็จ
          2.  เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกำหนดเป้าหมาย (ทั้งในฐานะบุคคลและในฐานะสมาชิกของทีม)
          3.  เข้าใจอิทธิพลของแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ผลในตัวเอง และคนอื่น ๆ
          4.  เข้าใจแรงกดดันของทีมตามการตั้งเป้าหมาย
          5.  เข้าใจความยากลำบากของคนทำงานที่มีแรงจูงใจ

วัสดุ อุปกรณ์ และการจัดหา
     เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเกมกองซ้อนลูกบาศก์   สิ่งที่คุณจะต้องมี มีดังต่อไปนี้
          1.  มีจำนวนลูกบาศก์ที่เพียงพอในการสร้างกองซ้อน ( แต่ละโต๊ะไม่ควรมีผู้เข้าแข่งขันเกินสี่คน )
          2.  ใช้ลูกบาศก์ไม้ขนาดหน้าตัด 1.5 คูณ 1.5  ตารางนิ้ว   จำนวน  350  ลูก ซึ่งจะพอเหมาะกับผู้เข้าแข่งขันจำนวน 16 – 20  คน    ( หมายเหตุ :  ครูการงานอาชีพด้านศิลปะอุตสาหกรรมน่าจะสามารถสร้างลูกบาศก์ให้ได้  หรือไม่ก็หาวัสดุอย่างอื่นที่สามารถนำมาวางซ้อนกันได้มาใช้แทน  เช่น  เงินเหรียญ  ,  น้ำตาลก้อน  หรือ ยางลบ )
          3.  แผ่นบันทึกที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องเขียนเป้าหมายที่ตั้งไว้
          4.  เครื่องกำหนดเวลาหนึ่งนาที


http://www.math.hope.edu/pow.html


ขั้นตอน
     ขั้นตอนต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเบื้องต้นจนกว่าครูจะมีความความเชื่อมั่น และมีประสบการณ์ในการใช้เกมนี้มากขึ้น
          1.  วางลูกบาศก์ให้กระจายทั่วทั้งโต๊ะ ( ถ้ามีการกระจายที่ไม่เท่ากันอาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรมการตั้งเป้าหมายของผู้เข้าแข่งขัน )  แต่ละโต๊ะควรจะกระจายลูกบาศก์ออกไปเพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันสามารถหยิบได้อย่างง่ายดาย
          2.  ครูประกาศ :  " ในแต่ละโต๊ะนักเรียนจะเห็นว่ามีลูกบาศก์อยู่จำนวนหนึ่ง  งานของพวกเธอในตอนนี้ก็คือให้พิจารณาว่าจะสามารถใช้ลูกบาศก์ได้กี่ลูกในการสร้างกองซ้อนแนวตั้งหลักเดียว ภายในเวลาหนึ่งนาที  โดยใช้มือเพียงข้างเดียว . . . "   ( ครูแสดงตัวอย่างการวางกองซ้อนแนวตั้งหลักเดียว )
          3.  แจกแผ่นบันทึก ( ดูตัวอย่างด้านล่าง )
          4.  ครูดำเนินการต่อ :   "  ดูที่แผ่นบันทึก  สำหรับในช่วงเวลานี้  ขอให้นักเรียนประมาณการ ( หรือสร้างเป้าหมายของนักเรียน )  ว่าจะใช้ลูกบาศก์จำนวนกี่ลูกในการสร้างกองซ้อนแนวตั้งหนึ่งหลัก ในเวลาหนึ่งนาที  ( ให้เวลาสักครู่ )  ทุกคนกำหนดเป้าหมายเสร็จแล้วใช่หรือไม่?  ใครมีคำถามเพิ่มเติมอีกบ้าง ? "
          5.  ครูอธิบาย :  " คะแนนที่เธอจะได้ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกบาศก์ในกองซ้อนที่เธอสร้าง ซึ่งจะต้องสัมพันธ์กับเป้าหมายที่ตั้งไว้   ถ้าเธอสร้างกองซ้อนไม่บรรลุเป้าหมาย  เธอจะได้ 5 คะแนนสำหรับลูกบาศก์แต่ละลูกในกองซ้อน   ตัวอย่างเช่น เป้าหมาย คือ  12  ลูก และเธอสร้างกองซ้อนได้เพียง  9  ลูก  เธอจะได้ 45 คะแนน  ( 9 x 5 )
         แต่ถ้าเธอบรรลุเป้าหมาย  ก็จะได้ 10 คะแนน สำหรับลูกบาศก์แต่ละลูก  และ  5  คะแนน สำหรับลูกบาศก์แต่ละลูกที่เกินจากเป้าหมาย   ตัวอย่างเช่น ถ้าตั้งเป้าหมายไว้  12  ลูก  และเธอสร้างกองซ้อนได้ 15 ลูก  เธอจะได้ 135  คะแนน   ( 12 x 10  หรือ 120  สำหรับผลสำเร็จตามเป้าหมาย  และบวกด้วย  3 x 5  หรือ 15   สำหรับลูกบาศก์ในกองซ้อนส่วนที่เกินจากเป้าหมาย ) "
          6.  ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มต้นสร้างกองซ้อน  ขอให้เตือนผู้เข้าแข่งขันทุกคนว่าจะต้องระมัดระวังไม่ทำให้กองซ้อนของผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ล้ม   แล้วประกาศ :  " ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว  เริ่มการแข่งขันได้ ! "
          7.  ใช้เวลาหนึ่งนาทีในการสร้างกองซ้อน   ครูควรจะเข้าร่วมสังเกตและจดบันทึกวิธีการที่แตกต่างกันของผู้เข้าแข่งขัน  ( ผู้เข้าแข่งขันบางคนจะดำเนินการค่อนข้างช้าและรอบคอบ  ขณะที่บางคนจะทำงานได้อย่างรวดเร็วมากกว่า )
          8.  เมื่อหมดเวลาหนึ่งนาที  ครูประกาศ :  " ทุกคนหยุดการทำงาน  นับจำนวนลูกบาศก์ในกองซ้อนของแต่ละคน   เขียนผลการดำเนินงานที่ได้จริงลงในแผ่นบันทึก และคำนวณคะแนนที่เธอได้สำหรับผลงานในรอบนี้ "
          9.  ถ้าครูเขียนเป้าหมายและผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนลงบนกระดานดำ ก็อาจจะเป็นประโยชน์ในการกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายเมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน  สังเกตผู้เข้าแข่งขันที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ต่ำกว่าประสิทธิภาพที่แท้จริงของเขา  และผู้เข้าแข่งขันที่ตั้งเป้าหมายสูงกว่าที่ทำได้จริง
        10.   ประกาศ :  "  ต่อไปเราจะทำการแข่งขันครั้งที่สอง  ในรอบแรกเธอก็ได้รู้แล้วว่าเธอสามารถวางลูกบาศก์ได้เท่าไร  ในรอบนี้เธอคิดว่าจะวางลูกบาศก์ได้มากกี่ลูก เขียนเป้าหมายไว้ในแผ่นบันทึก  "
        11.  ประกาศ : " ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว  เริ่มได้ "
        12.  ให้เวลาทำกิจกรรมหนึ่งนาที  ครูเดินไปรอบๆ ห้อง และจดบันทึกสิ่งที่สังเกตพบ
        13.  เมื่อครบหนึ่งนาที  ครูประกาศ   " หยุดการทำงาน  นับจำนวนลูกบาศก์ในกองซ้อน  เขียนผลการดำเนินงานที่แท้จริงลงในแผ่นบันทึก และคำนวณคะแนนที่ได้ "
        14.  ครูอาจจะต้องการดำเนินการอภิปรายสั้นๆ ในช่วงเวลานี้  แต่ขอให้เก็บความคิดเห็นที่สำคัญเอาไว้สำหรับการอภิปรายเมื่อสิ้นสุดเกม   และครูอาจจะต้องเขียนการกำหนดเป้าหมายและความสำเร็จจริงลงบนกระดานดำอีกครั้ง
        15.  ประกาศ : " ในรอบต่อไปนี้  ให้ทั้งสี่คนที่อยู่ในแต่ละโต๊ะรวมกันเป็นหนึ่งทีม  แต่ละทีมเลือก สมาชิกในทีมคนหนึ่งเป็นหัวหน้าทีม   ซึ่งหัวหน้าทีมจะเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดเป้าหมายของทีม  แต่อย่างไรก็ดีหัวหน้าทีมอาจจะขอความเห็นจากสมาชิกคนอื่นๆ ในทีมก็ได้  "  ( ให้แต่ละทีมมีเวลามากพอที่จะเลือกหัวหน้าทีม )
        16.  ประกาศ :  " หัวหน้าทีมก้าวออกมารวมกันตรงนี้  ครูจะบอกกติกาสำหรับการแข่งขันในรอบที่สาม  "
        17.  อธิบายให้หัวหน้าทีม :  " ในฐานะหัวหน้าทีม เธอแต่ละคนมีหน้าที่ในการสร้างเป้าหมายของทีม  เมื่อเธอกลับไปที่โต๊ะ เธอจะมีเวลาห้านาทีในการกำหนดเป้าหมายของทีมซึ่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนของลูกบาศก์ทั้งหมดที่สมาชิกในทีมจะสามารถสร้างเป็นกองซ้อนแนวตั้งหลักเดียว  ดังนั้นจะรวมเป็นกองซ้อนในแนวตั้งจำนวนสี่หลัก   ตัวอย่างเช่น ถ้าสมาชิกในทีมทุกคนสามารถสร้างกองซ้อนแนวตั้งหลักเดียวได้คนละ  15  ลูก  เป้าหมายของทีมก็จะกำหนดเป็น  60  ลูก   แต่อย่างไรก็ตามการตัดสินใจขั้นสุดท้ายสำหรับเป้าหมายของทีมเป็นความรับผิดชอบของเธอผู้เป็นหัวหน้าทีม   เอาล่ะ .. กลับไปที่โต๊ะ  กำหนดเป้าหมายของทีม และเขียนไว้ในแผ่นบันทึก  "
        18.  หลังจากให้เวลาสักครู่ ครูประกาศ : " ถ้าทุกทีมพร้อมแล้ว  เริ่มได้  "
        19.  ให้เวลาหนึ่งนาที   ครูเดินไปรอบๆ ห้อง และจดบันทึกสิ่งที่สังเกตพบ
        20.  เมื่อหมดเวลาหนึ่งนาที  ครูประกาศ :  " ทุกทีมหยุดการทำงาน  นับจำนวนลูกบาศก์ในกองซ้อนของแต่ละคนในทีมรวมกัน   เขียนผลการดำเนินงานที่ได้จริงลงในแผ่นบันทึก และคำนวณคะแนนที่ทีมได้สำหรับผลงานในรอบนี้ "
        21.  ครูอาจจะเขียนเป้าหมายของทีม และผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง   รวมถึงการระบุทีมที่ได้รับคะแนนมากที่สุด


การอภิปรายท้ายเกม
     คำถามในการอภิปรายจะช่วยให้นักเรียนจดจำพฤติกรรมของพวกเขา และเสริมสร้างสิ่งที่ได้เรียนรู้โดยการเล่นเกมกองซ้อนลูกบาศก์   ทุกๆ ความพยายามควรจะสัมพันธ์กับประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมเกม

คำถามต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาแรก ( ความพยายามในการตั้งเป้าหมายของนักเรียนในรอบแรก ) :
      1.  ทำให้เป็นจริงตามเป้าหมายได้อย่างไร ?    มีกี่คนที่ทำได้ตามเป้าหมาย ?   มีกี่เป้าหมายที่ตั้งไว้สูงเกินไป ?   มีกี่เป้าหมายที่ตั้งต่ำกว่าผลการดำเนินงานที่แท้จริง ?

      2.  ในรอบแรกมีความยากลำบากในการสร้างกองซ้อนให้ได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ?   ทำไมจึงเป็นเรื่องยากที่จะประเมินจำนวนของลูกบาศก์ในการสร้างกองซ้อน ?

      3.  มีใครบ้างที่ตั้งเป้าหมายต่ำ และเมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วหยุดการสร้างกองซ้อน ?  ทำไมจึงทำอย่างนั้น ?    ทำไมวิธีการทำเช่นนี้จึงไม่ใช่วิธีการที่ดี ?   นักเรียนคิดว่าคนแบบนี้ควรจะได้รับการส่งเสริมหรือไม่ ?

     4.  มีใครบ้างที่สามารถสร้างกองซ้อนได้ตามเป้าหมาย และพบว่าไม่สามารถทำให้สำเร็จได้เพราะ " อิทธิพลของ สิ่งแวดล้อม "   ตัวอย่างเช่น พบลูกบาศก์ที่ไม่เป็นจัตุรัสซึ่งมีผลทำให้กองซ้อนหลักเดียวถูกจำกัดความสูง    หรือมีกองซ้อนของผู้เข้าร่วมการแข่งขันอีกคนหนึ่งล้มลง และทำให้กองซ้อนของเธอล้มตามไปด้วย   หรือระหว่างการสร้างกองซ้อนโต๊ะมีการสั่นไหว


คำถามต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่สอง ( ความพยายามในการตั้งเป้าหมายของนักเรียนแต่ละคน ในรอบที่สอง ) :
      1.  อะไรคือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตั้งเป้าหมายของเธอสำหรับช่วงเวลาที่สอง ?    ผลการดำเนินงานที่แท้จริงของเธอในรอบแรกส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของคุณในรอบที่สองนี้มากน้อยเพียงใด ?    เธอได้รับผลกระทบจากเป้าหมายและผลการดำเนินงานของผู้เข้าร่วมแช่งขันคนอื่นๆ บ้างหรือไม่ ?   อิทธิพลใดแข็งแกร่งที่สุด (มีผลกระทบมากที่สุด) ?

     2.  ทำไมบางคนตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ง่ายต่อการสร้างกองซ้อนให้สำเร็จ  มากกว่าที่จะพยายาม กำหนดเป้าหมายเพื่อทำให้ได้รับคะแนนสูงสุด ?

     3.  ใครบ้างที่ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นมากกว่าในรอบแรก ?   ทำไม ?

    4.  ใครบ้างที่ได้รับแรงจูงใจในการกำหนดเป้าหมายที่จะทำให้ได้คะแนนสูงสุด และดังนั้นจึงเป็นการเปิดเผยจุดมุ่งหมายของเธอว่าจะเป็นผู้ชนะ ?


คำถามต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่สาม การแข่งขันเป็นทีม :
      1.  ทีมของนักเรียนมีวิธีการกำหนดเป้าหมายอย่างไร ?    หัวหน้าทีมตั้งเป้าหมายโดยพลการ หรือคนอื่นๆ มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น   ( ครูอาจจะเปรียบเทียบวิธีการที่แตกต่างกันในการตั้งเป้าหมาย และพิจารณาทีมที่ประสบความสำเร็จอีกครั้ง  ครูอาจจะแสดงตัวอย่างให้เห็นถึงวิธีการที่ดีกว่า ซึ่งคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม )

     2.  ทีมของเธอบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร  ( บางทีมอาจจะทำงานเป็นแบบต่างคนต่างทำ  บางทีมอาจจะกำหนดความรับผิดชอบ เช่น  คนออกแบบกองซ้อน  คนจัดเตรียมลูกบาศก์  หัวหน้าทีม   และวิธีการแบบอื่นๆ    ซึ่งทุกทีมจะร่วมกันสร้างกองซ้อนแนวตั้ง สี่หลัก เพื่อให้ได้กองซ้อนที่มีเสถียรภาพมากขึ้นและสูงมากกว่า )   วิธีไหนประสบความสำเร็จมากที่สุด ?

     3.  ในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีม เธอมีวิธีการสร้างแรงจูงใจให้กับเพื่อนในทีมอย่างไร


ตัวอย่างแผ่นบันทึก “เกมกองซ้อนลูกบาศก์”

รอบที่หนึ่ง
     1.   เป้าหมาย            จำนวนลูกบาศก์  ......................  ลูก
     2.   ทำได้จริง            จำนวนลูกบาศก์  ......................  ลูก                  
     3.   คำนวณคะแนน
           3.1    ถ้าทำไม่ได้ตามเป้าหมาย  คะแนนลูกบาศก์ละ  5  คะแนน    ได้  ......................   คะแนน
           3.2    ถ้าทำได้ตามเป้าหมาย    (1)  คะแนนลูกบาศก์ละ  10  คะแนน        (2)  ลูกบาศก์ส่วนที่มากกว่าเป้าหมาย คะแนนลูกบาศก์ละ  5  คะแนน                                       รวมคะแนน  ......................   คะแนน

รอบที่สอง
     1.   เป้าหมาย            จำนวนลูกบาศก์  ......................  ลูก
     2.   ทำได้จริง             จำนวนลูกบาศก์  ......................  ลูก
     3.   คำนวณคะแนน    ได้คะแนน  ......................   คะแนน

รอบที่สาม
     1.   เป้าหมาย            จำนวนลูกบาศก์  ......................  ลูก
     2.   ทำได้จริง            จำนวนลูกบาศก์  ......................  ลูก
     3.   คำนวณคะแนน    ได้คะแนน  ......................   คะแนน


















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น