วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความคิดสร้างสรรค์ 11



การวัดความคิดสร้างสรรค์ด้วยแบบทดสอบ  ทีซีที – ดีพี  ( TCT – DP )

แหล่งข้อมูล
1.  วีณา ประชากูล   วารสารวิชาการปีที่ 9  ฉบับที่ 3  กรกฎาคม – กันยายน  2549
2.  แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์จากผลการวาดภาพ TCT – DP  โรงเรียนเมรี่อิมมาคุเลตคอนแวนต์  อำเภอเมือง   จังหวัดชลบุรี  :  learn.rru.ac.th/moodle/moodle/file.../1/.../_TCT.docx


การวัดความคิดสร้างสรรค

แบบทดสอบของเจลเลน และเออร์บาน

     เจลเลน และเออร์บาน (Jellen and Urban. 1989: 78-86) ได้สร้างแบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ที่ชื่อว่า TCT-DP (The Test for Creative Thinking Drawing Production) ซึ่งสร้างขึ้นตามนิยามว่า ความคิดสร้างสรรค์หมายถึงการคิดอย่างมีสาระเชิงนวัตกรรม มีจินตนาการ และเป็นความคิดอเนกนัยซึ่งรวมถึงความคิดคล่องแคล่ว (fluency)  ความคิดยืดหยุ่น (flexibility)  ความคิดริเริ่ม (originality)  ความคิดละเอียดลออ (elaboration)  ความกล้าเสี่ยง (risk-taking)  และอารมณ์ขัน (humor)   โดยลักษณะของแบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์นี้จะให้ผู้เข้ารับการทดสอบแสดงความสามารถทางการคิดอย่างมีสาระด้วยการต่อเติมภาพที่กำหนดให้ ซึ่งเป็นกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ  5 x 5  ตารางนิ้ว ภายในกรอบสี่เหลี่ยมนี้ จะมีภาพเส้นและจุดอยู่  5  แห่ง และอยู่นอกกรอบอีก  1  แห่ง รวมเป็น  6  แห่ง แบบทดสอบ TCT-DP นี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นแบบทดสอบที่สามารถนามาใช้วัดได้กับกลุ่มเป้าหมายได้ทุกวัย



     แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ The Test for Creative Thinking Drawing Production (TCT-DP) สร้างขึ้นโดย Jellen  และ Urban





การใช้แบบทดสอบ
1.   ผู้เข้ารับการทดสอบจะได้รับแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ TCP-DP  และดินสอดำที่ไม่มียางลบ เพื่อมิให้ผู้เข้ารับการทดสอบเปลี่ยนภาพที่วาดแล้ว
2.   ผู้ทดสอบอ่านคำสั่งช้า ๆ และชัดเจน ดังนี้
ภาพที่วาดอยู่ข้างหน้าเด็กๆ ขณะนี้เป็นภาพที่ยังไม่สมบูรณ์  ผู้วาดเริ่มลงมือวาด แต่ถูกขัดจังหวะเสียก่อน ขอให้เด็กๆ วาดต่อให้สมบูรณ์ จะวาดเป็นภาพอะไรก็ได้ตามที่เด็กๆ ต้องการ ตามจินตนาการ  ไม่มีการวาดภาพใดๆ ที่ถือว่าผิด ภาพทุกภาพเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งสิ้น เมื่อวาดภาพเสร็จแล้วขอให้นำมาส่งครู
3.   เมื่อผู้เข้ารับการทดสอบเข้าใจแล้วให้ลงมือวาดภาพ และถ้าหากมีคำถามในช่วงที่กำลังทำแบบทดสอบ ผู้ทดสอบอาจจะตอบคำถามได้  เช่น  “ หนูจะวาดรูปอะไร “  ให้ครูตอบได้ว่า  “ เด็กๆ อยากวาดภาพอะไรก็ได้ตามที่อยากจะวาด  รูปที่วาดเป็นสิ่งถูกต้องทั้งสิ้น  ทำอย่างไรก็ได้ ไม่มีสิ่งใดผิด ”   หากผู้เข้ารับการทดสอบยังมีคำถามเช่น ถามถึงชิ้นส่วนที่ปรากฏอยู่นอกกรอบ ก็ให้ตอบในทำนองเดิม ห้ามอธิบายเนื้อหาหรือวิธีการใดๆ เพิ่มเติม  นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการพาดพิงถึงเวลาที่ควรใช้ในการวาดภาพ  ครูควรพูดทำนองที่ว่า เริ่มวาดได้เลยไม่ต้องกังวลเรื่องเวลา
4.  ผู้ทดสอบต้องจดบันทึกเวลาการทำแบบทดสอบของผู้ที่ทำเสร็จก่อน  12  นาที โดยจดบันทึก อายุ เพศ ชื่อผู้เข้ารับการทดสอบในช่องว่างมุมขวาของกระดาษทดสอบ
5.  ผู้ทดสอบบอกให้ผู้เข้ารับการทดสอบตั้งชื่อเรื่อง ควรพูดเบาๆ โดยไม่รบกวนผู้เข้ารับการทดสอบคนอื่นที่ยังทำไม่เสร็จ แล้วเขียนชื่อเรื่องไว้ที่มุมขวาบน เพราะจะใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการแปลผลการวาดภาพ
6.  ในการทดสอบกำหนดเวลา  15  นาที  หลังจากนั้นผู้ทดสอบจะเก็บข้อมูลทั้งหมด เขียนชื่อ อายุ เพศ และชื่อภาพ ไว้ที่มุมขวาของแบบทดสอบ


  
เกณฑ์การประเมินผลเพื่อให้คะแนน
1.  การต่อเติม (Cn : Continuations) ชิ้นส่วนที่ได้รับการต่อเติม (ครึ่งวงกลม จุด มุมฉาก เส้นโค้ง เส้นประและสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กปลายเปิดนอกกรอบสี่เหลี่ยมใหญ่) จะได้คะแนนการต่อเติมชิ้นส่วนละ  1  คะแนน  คะแนนสูงสุดคือ  6  คะแนน
2.  ความสมบูรณ์ (Cm : Completions) หากมีการต่อเติมจากเดิมในข้อ 1 ให้เต็มหรือให้สมบูรณ์มากขึ้นจะได้คะแนนชิ้นส่วนละ 1 คะแนน  ถ้าต่อเติมภาพโดยใช้รูปที่กำหนด  2  รูปมารวมเป็นรูปเดียว เช่น โยงเป็นรูปบ้าน  ต่อเป็นอิฐ  ต่อเป็นปล่องไฟ ฯลฯ  ให้  1  คะแนน  คะแนนสูงสุดของข้อนี้คือ  6  คะแนน
3.  ภาพที่สร้างขึ้นใหม่ (Ne : New Elements) ภาพหรือสัญลักษณ์ที่วาดขึ้นใหม่นอกเหนือจากข้อ 1 และ 2 จะได้คะแนนเพิ่มอีกภาพละ  1  คะแนน แต่ภาพที่วาดซ้ำๆ ภาพที่เหมือนกัน เช่น ภาพป่าที่มีต้นไม้หลายๆ ต้น ซ้ำๆ กัน จะได้  2 – 3  คะแนน คะแนนสูงสุดของข้อนี้คือ  6  คะแนน
4.  การต่อเนื่องด้วยเส้น (Cl : Connections made with lines) แต่ละภาพหรือส่วนของภาพ (ทั้งภาพที่สร้างเสร็จขึ้นใหม่ในข้อ 3   หากมีเส้นลากโยงเข้าด้วยกันทั้งภายในและภายนอกจะได้รับคะแนนการโยงเส้น เส้นละ 1 คะแนน คะแนนสูงสุดของข้อนี้คือ  6  คะแนน
5.  การต่อเนื่องที่ทำให้เกิดเป็นเรื่องราว (Cth : Connections made that Contribute to a theme) ภาพใดหรือส่วนใดของภาพที่ทำให้เกิดเป็นเรื่องราวหรือเป็นภาพรวมจะได้อีก  1  คะแนนต่อ  1  ชิ้น การเชื่อมโยงนี้อาจเป็นการเชื่อมโยงด้วยเส้นจากข้อ 1  หรือไม่ใช้เส้น ก็ได้ เช่น เส้นประของแสงอาทิตย์  เงาต่างๆ  การแตะกันของภาพ ความสำคัญอยู่ที่การต่อเติมนั้นทำให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ตามความหมายที่ผู้เข้ารับการทดสอบตั้งชื่อไว้ คะแนนสูงสุดของข้อนี้คือ  6  คะแนน
6.  การข้ามเส้นกั้นเขต โดยใช้ชิ้นส่วนที่กำหนดให้ นอกกรอบใหญ่ (Bid : Boundary Breaking Fragment-dependent) การต่อเติมหรือโยงเส้นปิด รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสปลายเปิด ซึ่งอยู่นอกกรอบสี่เหลี่ยมใหญ่ จะได้  6  คะแนนเต็ม
7.  การข้ามเส้นกั้นอย่างอิสระ โดยไม่ใช้ชิ้นส่วนที่กำหนดให้นอกกรอบใหญ่ (Bfi : Boundary Breaking being Fragment-dependent) การต่อเติมโยงเส้นออกไปนอกกรอบ หรือการวาดภาพนอกกรอบสี่เหลี่ยมใหญ่ จะได้  6  คะแนนเต็ม
8.  การแสดงความลึก ใกล้ไกล  หรือมิติของภาพ (Pe : Perspective)  ภาพที่วาดให้เห็นส่วนลึก มีระยะใกล้ไกล หรือวาดภาพในลักษณะสามมิติ ให้คะแนนภาพละ  1  คะแนน  หากมีภาพปรากฏเป็นเรื่องราวทั้งภาพ แสดงความเป็นมิติ มีความลึกหรือใกล้ไกล ให้คะแนน  6  คะแนน
9.  อารมณ์ขัน (Hu : Human) ภาพที่แสดงให้เห็นหรือก่อให้เกิดอารมณ์ขัน จะได้ชิ้นส่วนละ  1  คะแนน หรือดูภาพรวมถ้าได้อารมณ์ขันมาก ก็จะให้คะแนนมากขึ้นเป็นลำดับ ภาพที่แสดงอารมณ์ขันนี้ประเมินในหลายๆ ทาง เช่น
     1)  ผู้วาดสามารถล้อเลียนตัวเองจากภาพวาด
     2)  ผู้วาดผนวกชื่อที่แสดงอารมณ์ขันเข้าไปหรือวาดเพิ่มเข้าไป
     3)  ผู้วาดผนวกลายเส้นและภาษาเข้าไปเหมือนการวาดภาพการ์ตูน
คะแนนสูงสุดของข้อนี้คือ  6  คะแนน
10.  การคิดแปลกใหม่ ไม่ติดตามแบบแผน (Uc : Unconventionality) ภาพที่มีความคิดที่แปลกใหม่แตกต่างไปจากความคิดปกติธรรมดาทั่วไป มีเกณฑ์การให้คะแนน ดังนี้
     a.  การวางหรือการใช้กระดาษแตกต่างไปจากเมื่อผู้ทดสอบวางกระดาษให้ เช่น  มีการพับ  มีการหมุน หรือพลิกกระดาษไปข้างหลัง แล้วจึงวาดภาพ จะได้คะแนน  3  คะแนน
     b.  ภาพที่เป็นนามธรรมหรือไม่เป็นภาพของจริง เช่น การใช้ชื่อที่เป็นนามธรรม หรือสัตว์ประหลาด ให้  3  คะแนน
     c.  ภาพรวมของรูปทรง เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ตัวอักษร ตัวเลข หรือการใช้ชื่อ หรือภาพที่เหมือนการ์ตูน ให้  3  คะแนน
     d.  ภาพที่ต่อเติม ไม่ใช่ภาพที่วาดกันแพร่หลายทั่ว ๆ ไป ให้  3  คะแนน  แต่หากมีการต่อเติมภาพในลักษณะต่าง ๆ ต่อไปนี้
          1)  รูปครึ่งวงกลมต่อเป็นพระอาทิตย์ หน้าคน หรือวงกลม
          2)  รูปมุมฉากต่อเป็นบ้าน กล่อง หรือสี่เหลี่ยม
          3)  รูปเส้นโค้งต่อเป็นงู ต้นไม้ หรือดอกไม้
          4)  รูปเส้นประ ต่อเป็นถนน ตรอก หรือทางเดิน
          5)  รูปจุดทำเป็นตานก หรือ สายฝน
          รูปทำนองนี้ต้องหักออก 1 คะแนน จาก 3 คะแนนเต็มในข้อ ง.  แต่ต้องไม่มีคะแนนติดลบ  คะแนนสูงสุดของข้อนี้เท่ากับ 12 คะแนน
11.  ความเร็ว (Sp : Speed) ภาพที่ใช้เวลาน้อยกว่า  12  นาที จะได้คะแนนเพิ่ม ดังนี้
                    1)  ต่ำกว่า  2  นาที  ได้  6  คะแนน
                    2)  ต่ำกว่า  4  นาที  ได้  5  คะแนน
                    3)  ต่ำกว่า  6  นาที  ได้  4  คะแนน
                    4)   ต่ำกว่า  8  นาที  ได้  3  คะแนน
                    5)  ต่ำกว่า  10  นาที  ได้  2  คะแนน
                    6)  ต่ำกว่า  12  นาที  ได้  1  คะแนน
                    7)  มากกว่าหรือเท่ากับ 12 นาที ได้ 0 คะแนน



คะแนนรวมของแบบทดสอบ
          ตามปกติแล้วด้านหลังของแบบทดสอบจะมีช่องให้คะแนนอยู่  11  ช่อง แต่ละช่องจะมีรหัสให้คะแนน  วิธีการให้คะแนน เพียงแต่พับส่วนล่างของแบบทดสอบขึ้นมาก็สามารถให้คะแนนได้ทันที คะแนนรวมของแบบทดสอบ TCT-DP คือ  72  คะแนน 
  


  

         เกณฑ์การตัดสินระดับความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ TCT – DP  เป็นดังนี้
          1.   ได้คะแนนรวมต่ำกว่า  24  คะแนน  มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับต่ำ
          2.   ได้คะแนนรวมระหว่าง  24 – 47  คะแนน  มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับปานกลาง
          3.   ได้คะแนนรวมตั้งแต่  48  คะแนนขึ้นไป  มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับสูง



ตัวอย่างการใช้แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ TCP-DP
  

 ภาพจาก   http://educationmuseum.wordpress.com/2013/03/16/test-of-creative-thinking-drawing-production/














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น