วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความคิดสร้างสรรค์ 06 ( เทคนิคการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ 2 )



            5.  เทคนิคการคิดอย่างมีประสิทธิภาพ  การคิดอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสู่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดของ เอ็ดเวิด เดอ โบโน (Edward De Bono) นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ทางเภสัชแห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ได้เสนอกระบวนการคิดไว้  7  ขั้นตอน ปรากฏว่าเป็นที่นิยมใช้แพร่หลายและได้ผลดี   เดอ โบโน ยังได้กล่าวไว้ว่า การคิดอย่างสร้างสรรค์นั้นเกิดจากการคิดแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันโดยใช้เครื่องฝึกคิด  7  ขั้น ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการคิดอย่างสร้างสรรค์ของบุคคลได้
            ขั้นที่ 1  ให้สนใจทั้งด้านบวกและด้านลบ หรือเรียกย่อๆ ว่า PMI (Plus, Minus and Interesting) ขั้นแรกนี้ให้เริ่มคิด มองสิ่งต่างๆ ให้กว้างขวาง โดยไม่จำกัดเฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่งก่อน ตัวอย่างเช่น ให้ท่านมองดูรอบๆ ห้องที่นั่งอยู่แล้วบอกว่า มีอะไรบ้างที่มีสีแดง เสร็จแล้วให้หลับตาแล้วถามตนเองว่า มีอะไรบ้างที่เป็นสีเขียว แล้วลืมตามองดูรอบๆ อีกครั้งหนึ่ง จะพบว่าท่านจะตอบสิ่งที่เป็นสีเขียวได้น้อยมาก ทั้งนี้เพราะท่านได้รับคำสั่งแรกให้ดูสีแดงจึงไม่สนใจสังเกตสีอื่นๆ  ซึ่งเดอ โบโนกล่าวว่าเป็นการคิดที่ไม่รอบคอบ และไม่กว้างขวาง จึงได้เสนอเทคนิค PMI โดยการตั้งเป็นปัญหาหรือคำถามขึ้นมา ตัวอย่างเช่น ในการอภิปรายถกเถียงเรื่องของการออกแบบสร้างรถประจำทางขึ้นใหม่ โดยมีผู้เสนอว่าควรออกแบบชนิดที่ไม่ต้องมีที่นั่งเลย โดยผู้โดยสารโหนก็ได้ ท่านมีความคิดเห็นต่อข้อเสนอดังกล่าวอย่างไรและทำไม
            การฝึกความคิดแบบ PMI คือ พยายามคิดและเขียนรายการที่มีทั้งรายการที่เป็นส่วนที่ดี และส่วนที่ไม่ดีของข้อเสนอให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ รวมทั้งข้อคิดที่เป็นกลางๆ แต่น่าสนใจ  จะพบว่าจะได้ทั้งข้อดีและข้อไม่ดีหลายข้ออย่างน้อยอาจคิดได้  8 – 10  ข้อ  ในช่วงเวลา  3 – 4  นาที
            จุดมุ่งหมายของการฝึกคิด PMI ก็เพื่อให้บุคคลเป็นคนใจกว้างในการคิด มากกว่าที่จะคิดแบบเฉพาะเจาะจง หรือติดอยู่กับแนวคิดที่เป็นอคติของตน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า การฝึก PMI เป็นการขยายความตั้งใจ ความสนใจให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ป้องกันไม่ให้บุคคลยึดมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่คิดถึงสิ่งอื่นๆ



ภาพจาก   http://claiknoe2.wordpress.com/


            ขั้นที่ 2  ให้พิจารณาองค์ประกอบทั้งหมด (Consideration of All Factors) หรือเรียกย่อเรียกว่า CAF ในขั้นนี้มีจุดมุ่งหมายให้แน่ใจว่าได้คิดถึงทุกๆ สิ่ง คิดถึงทุกๆ ด้านที่เห็นว่าสำคัญที่จะช่วยในการตัดสินใจ ตัวอย่าง เช่น ถ้า จะซื้อบ้านใหม่สักหลังหนึ่ง การคิด CAF ก็ด้วยการตั้งคำถามกับองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับบ้าน เป็นต้นว่า ขนาดของบ้าน ราคา ทิศทาง บริเวณทำเลที่ตั้ง การระบายน้ำ เป็นต้น  ซึ่งคงไม่มองเฉพาะความสวยงาม มีหลายห้อง สีสันถูกใจเพียงเท่านั้น



ภาพจาก   http://www.empowernetwork.com/movemountains/blog/the-science-of-getting-rich-in-10-simple-steps/


            ขั้นที่ 3  การพิจารณาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา และลำดับที่จะเกิดขึ้น (Consequences and sequel) หรือเรียกว่า C&S ทำให้เห็นแนวทางความเป็นไปได้หลายๆ ทาง หรือหลายแง่มุม กระบวนการนี้จะช่วยในการตัดสินใจว่าทางใดดีที่สุด  เทคนิคที่เดอ โบโนใช้นั้นก็คือ จินตนาการถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  4  ระยะ  คือ ทันทีทันใดหลังกระทำ   ระยะสั้น คือ ในอนาคตอันใกล้   ระยะกลาง   และระยะยาว คือ ตั้งแต่  25  ปีขึ้นไป  ตัวอย่างเช่น คำถามว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราใช้น้ำมันหมดแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราใช้เครื่องจักรแทนแรงงานมนุษย์ในโรงงานทั้งหมด จึงจินตนาการถึงสิ่งที่เกิดมาตามลำดับ การฝึก C&S จะเกิดทักษะนำไปประยุกต์วิธีการตัดสินใจในชีวิตได้
ภาพจาก   http://www.cortthinking.com/cort/1/cs-consequence-and-sequel-cort-1-lesson-4


            ขั้นที่ 4  คิดถึงจุดมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายปลายทาง หรือวัตถุประสงค์ เรียกย่อๆ ว่า AGO (Aims, Goals and Objectives) คือวิธีการที่จะให้คิดดีขึ้น  คือ การฝึกปฏิบัติเขียนรายการเหตุผลให้มากกว่าการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น ในการเล่นเทนนิส ชายผู้หนึ่งมักแพ้เสมอ เพราะเขาพยายามตีลูกตบอยู่เสมอ ทำให้ลูกติดตาข่ายประจำ แม้ว่าเขาจะคิดถึง  การชนะ เป็นจุดมุ่งหมายปลายทางก็ตาม  แต่เขากลับทำใจในจุดหมายหนึ่ง คือ ปรารถนาที่จะตีลูกอย่างวิเศษ หรือให้มองดูว่า  เก่ง”  ในการตีลูกตบ   การที่จุดมุ่งหมายอื่นเข้ามาแทรก จึงไม่สามารถถึงจุดมุ่งหมายเดิม คือ การชนะในการเล่นเทนนิสได้ เป็นต้น



ภาพจาก   http://www.oknation.net/blog/print.php?id=706063


            ขั้นที่ 5  สิ่งสำคัญเป็นอันดับแรก (First Important Priorities) หรือเรียกย่อๆ ว่า FIP เป็นการช่วยให้บุคคลประเมินทางเลือกที่มีอยู่หลายทาง แล้วตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุด เช่น การตัดสินใจซื้อของบางอย่าง เราก็คงคำนึงถึงความจำเป็นที่สุดเป็นอันดับแรกจึงตัดสินใจ เป็นต้น   ส่วนใหญ่คนเรามักจะตัดสินใจทำอะไรจากความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่ความคิด

ภาพจาก   http://www.cortthinking.com/cort/1/fip-first-important-priorities-cort-1-lesson-7


            ขั้นที่ 6  ทางเลือก ทางที่อาจเป็นไปได้ หรือการเลือก เรียกย่อว่า APC (Alternatives, Possibilities or Choices) ช่วยค้นหาทางเลือกที่เป็นไปได้ เช่น ในการคิดค้นการทำหลอดไฟฟ้าของเอดิสัน แสดงให้เห็นทางเลือกหลายๆ ทาง คือ เขาพยายามใช้วัสดุแปลกๆ ไปกว่าที่คนอื่นเคยคิดว่าสามารถทำไส้หลอดไฟฟ้าได้ นับพันๆ ชนิด รวมทั้งจุกไม้คอร์ก  เชือกสายเบ็ด   จนในที่สุดประสบความสำเร็จจากเส้นใยคาร์บอน เป็นต้น



ภาพจาก   http://www.oknation.net/blog/print.php?id=706063


            ขั้นที่ 7  ความคิดเห็นจากด้านอื่นๆ หรือเรียกว่า OPV (Other People's Views) เป็นการมองความคิดจากภายนอก หรือทำเสมือนว่าคนภายนอกคิดอย่างไรต่อเรื่องนั้นๆ หรือมองปัญหาในแง่ของคนอื่น หรือเป็นการมองปัญหาโดย  เอาใจเขามาใส่ใจเรา”  ซึ่งจะช่วยให้มองปัญหาและแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น  ตัวอย่างเช่น เจ้าของรถยนต์ไปซื้อวิทยุติดรถยนต์เครื่องใหม่ ซึ่งผู้ขายแนะนำว่าดีที่สุด เหมาะสมที่สุด แต่เมื่อนำมาติดตั้งจริงๆ แล้วมิได้มีคุณภาพดีกว่าเดิม เจ้าของรถยนต์โมโหและไปทวงเงินคืน แต่เขาลองสมมติว่า ถ้าเขาเป็นคนขายวิทยุ เขาจะพบว่า ในวันหนึ่งๆ ของคนขายต้องพบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของวิทยุเป็นจำนวนมากราย ซึ่งอาจผิดพลาดได้ ดังนั้นเขาจึงเปลี่ยนใจ โดยนำเครื่องไปแลกเครื่องใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าซึ่งผู้ขายก็ไม่ได้คิดเงินเพิ่ม ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ดี


ภาพจาก   http://www.cortthinking.com/cort/1/other-people%E2%80%99s-views-cort-1-lesson-10



            หากได้ลองคิดอย่างมีประสิทธิภาพ  7  ขั้น  คิดถึงทุกๆ ด้าน  มองปัญหาให้ครอบคลุม  คิดถึงผลที่จะเกิดตามมา  ยึดจุดประสงค์ปลายทางไว้ให้มั่นว่าอะไรเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับหนึ่ง  คิดถึงทางเลือกที่จะเป็นไปได้  อะไรที่คนอื่นเขาคิด แล้วคงช่วยในการคิดมีประสิทธิภาพและเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น