วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหา ( 11 )




2.  ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์และคิดผสมผสาน
การคิดวิเคราะห์  เป็นการแบ่ง หรือแยกแยะสิ่งที่สนใจหรือสิ่งที่เราต้องการศึกษาออกเป็นส่วนย่อย ๆ หรือออกเป็นแง่มุมต่างๆ แล้วทำการศึกษาส่วนย่อยๆ นั้นอย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจหรือมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่สนใจหรือสิ่งที่ต้องการศึกษาได้มากขึ้น
การคิดผสมผสาน  เป็นการรวมความรู้ย่อย หรือผลจากการวิเคราะห์ให้เป็นข้อมูลใหม่ ข้อสรุปใหม่ กระบวนการใหม่ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบใหม่ได้มากยิ่งขึ้น


การฝึกการคิดวิเคราะห์มี 2 ขั้นตอนคือ
ขั้นที่ 1  ฝึกหัดแบ่งหรือแยกแยะสิ่งที่สนใจ หรือสิ่งที่ต้องการศึกษา
ขั้นที่ 2  ทำการศึกษาส่วนย่อยที่แบ่งหรือแยกแยะออกมาอย่างลึกซึ้ง



ตัวอย่างการฝึก  
ขั้นที่ 1 กำหนดสิ่งที่สนใจหรือสิ่งที่ต้องการศึกษาขึ้น แล้วหัดแบ่งหรือแยกแยะสิ่งนั้นออกเป็นส่วนย่อยๆ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

               วิธีที่ 1 แบ่งหรือแยกแยะสิ่งต่างๆ เป็นส่วนย่อยๆ ตามสภาพที่มองเห็นได้  เช่น
               คอมพิวเตอร์  แบ่งเป็นส่วนย่อยๆ ได้ดังนี้  คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ  คอมพิวเตอร์โน้ตบุค  จอภาพ  แป้นพิมพ์   เมาส์  เมนบอร์ด  ตัวประมวลผลกลาง (CPU)  การ์ดเสียง  การ์ดจอ  กราฟฟิคการ์ด  ฮาร์ดดิสก์  แรม  เป็นต้น 

               วิธีที่ 2 แบ่งหรือแยกแยะสิ่งต่างๆ เป็นส่วนย่อยๆ ตามสภาพที่เป็นความรู้สึกนึกคิด เช่น
                         คอมพิวเตอร์ แบ่งเป็นส่วนย่อยๆ ได้ดังนี้  ความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต (ยี่ห้อ)  ความน่าเชื่อถือของตัวแทนขาย  ประสิทธิภาพ  การบริการหลังการขาย  ความสวยงาม  เป็นต้น

              วิธีที่ 3 แบ่งหรือแยกแยะสาเหตุย่อยๆ ของปรากฏการณ์ที่สนใจ เช่น
                        การเจริญเติบโตของต้นไม้  มาจากปัจจัยต่างๆ เช่น พันธุ์  ความสมบูรณ์ของเมล็ด  ดิน  น้ำ  แสงแดด  อากาศ  การบำรุงรักษา  เป็นต้น

              วิธีที่ 4 แบ่งหรือแยกแยะผลย่อยๆ ที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ที่สนใจ เช่น
                          นักเรียนที่ชอบเที่ยวตอนกลางคืน จะมีผลเกิดตามมาคือ ใช้จ่ายเงินมากขึ้น  ผลการเรียนตกต่ำลง  สุขภาพไม่ดี  ทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์   เป็นต้น



         ขั้นที่ 2   ศึกษารายละเอียดของแต่ละส่วนย่อย เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เป็นการนำส่วนย่อยต่างๆ มาเปรียบเทียบ หรือหาความสัมพันธ์ของส่วนย่อย  ในแง่มุมต่างๆ  เช่น  เป็นคุณ-เป็นโทษ  เป็นบวก-เป็นลบ  จุดเด่น-จุดด้อย  ควร-ไม่ควร  ดี-ไม่ดี  ถูก-ผิด  ข้อเท็จจริง-ความคิดเห็น  ข้อเท็จจริง-ความรู้สึก   เป็นต้น


ตัวอย่าง  เมื่อต้องการจะซื้อคอมพิวเตอร์ก็ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอ โดยแยกแยะส่วนต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ ทั้งส่วนย่อยที่มองเห็นได้ และส่วนย่อยตามสภาพความรู้สึก เช่น  เป็นแบบตั้งโต๊ะ  เป็นโน้ตบุค  จอภาพ  แป้นพิมพ์   เมาส์  ตัวประมวลผลกลาง (CPU)  การ์ดเสียง  การ์ดจอ  กราฟฟิคการ์ด  ฮาร์ดดิสก์  แรม  ความสวยงาม  คุณภาพ  ความเร็ว  การบริการหลังการขาย  เป็นต้น   แล้วศึกษาส่วนย่อยต่างๆ เหล่านั้น  เช่น  ศึกษาจุดเด่น-จุดด้อยระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะกับโน้ตบุคในแง่มุมต่างๆ  เปรียบเทียบคุณภาพของจอภาพ ตัวประมวลผลกลาง(CPU) หรือการ์ดต่างๆ หลายๆ ยี่ห้อ  สอบถามเรื่องการบริการจากลูกค้าคนอื่นๆ  เป็นต้น  เมื่อศึกษาทุกส่วนเรียบร้อยแล้ว เราก็จะมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพียงพอ และสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจในการซื้อได้เป็นอย่างดี



ภาพจาก  http://computercyber.orgfree.com/work_5.html

q



ตัวอย่าง  เราสามารถฝึกการคิดผสมผสานได้ในอีกลักษณะหนึ่งคือ การนำความรู้ย่อยๆ มาผสมผสาน เพื่อให้ได้แนวคิดใหม่ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือกระบวนการใหม่ โดยในขั้นแรกนี้อาจพิจารณาจากสิ่งที่พบเห็นได้จริงก่อนว่าเกิดจากความรู้ย่อยใดมาผสมผสานกัน เช่น
1.  โทรศัพท์ + เครื่องถ่ายเอกสาร ผลที่ได้คือ เครื่องโทรสาร
2.  ขนมปัง + ไส้กรอก ผลที่ได้คือ ขนมปังไส้กรอก(ฮอทดอก)
3.  วงล้อ + เก้าอี้ ผลที่ได้คือ เก้าอี้เข็น
4.  ดินสอ + ยางลบ ผลที่ได้คือ ดินสอที่มียางลบด้านบน
         5.  นาฬิกา + วิทยุ ผลที่ได้คือ วิทยุที่มีนาฬิการวมอยู่เป็นเครื่องเดียวกัน

ภาพการคิดผสมผสาน

q



ตัวอย่าง  การนำความรู้ย่อยๆ มาผสมกับข้อมูลด้านต่างๆ เช่น  ข้อมูลด้านสังคม  ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม  ทำให้ได้ข้อสรุปในการดำเนินการที่เหมาะสม ถูกต้องมากขึ้น เช่น

                                -  เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                                -  โรงงานไฟฟ้าจากพลังงานขยะ




เกษตรทฤษฎีใหม่
ภาพจาก http://www.kasetporpeang.com/porpeang_theory.htm






พลังงานทางเลือกจากขยะ
ภาพจาก  http://www.numsai.com /เคมี-ชีววิทยา/พลังงานทางเลือกจาก-ขยะอาหาร.html

q




ตัวอย่างแบบฝึกทักษะ “ การคิดวิเคราะห์และคิดผสมผสาน ”

1.  แบ่งหรือแยกแยะสิ่งที่กำหนดให้ต่อไปนี้ออกเป็นส่วนย่อยๆ ตามสภาพที่มองเห็น
                1.1  รถยนต์
                1.2  บ้าน
แนวคิด  ส่วนย่อยของรถยนต์ที่มองเห็นได้ เช่น ตัวถัง  ประตู  กระโปรงหน้า  กระโปรงหลัง  เครื่องยนต์  เครื่องปรับอากาศ  หม้อน้ำ  พวงมาลัย  ล้อ  เบรก  โคมไฟหน้า  กันชน   เป็นต้น
                ส่วนย่อยของบ้านที่มองเห็นได้ เช่น หลังคา  ประตู  หน้าต่าง  ฝาผนัง  เพดาน  พื้น  บันได   เป็นต้น

2.  แบ่งหรือแยกแยะสิ่งที่กำหนดให้ต่อไปนี้ออกเป็นส่วนย่อยๆ ตามสภาพที่เป็นความรู้สึกนึกคิด
                2.1  รถยนต์
                2.2  บ้าน
แนวคิด  ส่วนย่อยของรถยนต์ที่เป็นความรู้สึกนึกคิด เช่น  ความสวยงาม  ความปลอดภัย  ความสะดวกสบาย  คุณภาพ  ความเร็ว  ความเหมาะสม  ความแข็งแรง  ความคงทนถาวร   เป็นต้น
                ส่วนย่อยของบ้านที่เป็นความรู้สึกนึกคิด เช่น  ดังนี้  ความสวยงาม  ความอบอุ่น  ความเป็นบ้าน  ความปลอดภัย  ความสะดวกสบาย ความกลมกลืน  ความสัมพันธ์ของสมาชิกในบ้าน  บรรยากาศในบ้าน   เป็นต้น

3. สมมุติว่าจะพาเพื่อนจำนวน 30-40 คน ไปทัศนศึกษา ให้วิเคราะห์ว่าต้องทำอะไรบ้าง และสิ่งที่ทำนั้นทำอย่างไร (วิธีการในการดำเนินงาน)

4. ให้ใช้คำที่กำหนดให้ต่อไปนี้ เขียนเป็นข้อความหรือเรื่องราวที่สมบูรณ์ ความยาวประมาณ 6 – 8  บรรทัด โดยให้มีคำเหล่านี้ครบทุกคำ (ให้ขีดเส้นใต้คำที่กำหนดในข้อความที่เขียนด้วย)
2.1   ชาวนา  ทะเลทราย  รถจักรยานยนต์  ความซื่อสัตย์  วันขึ้นปีใหม่
2.2   ภาพยนตร์  แม่น้ำ  หนังสือ  ความดี  การพักผ่อน  รถโดยสารประจำทาง  เสื้อสีชมพู

5. ให้จัดกลุ่ม กลุ่มละ 7-8 คน เสนอและเลือกหัวข้อที่กลุ่มสนใจในการฝึกการคิดวิเคราะห์และผสมผสาน แล้วระดมพลังสมองปฏิบัติตามหัวข้อที่ได้ ใช้เวลา 15 นาที

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น