กระบวนการแก้ปัญหา
กระบวนการแก้ปัญหาที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
คือ กระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา (George Pólya นักคณิตศาสตร์ชาวฮังกาเรียน
ค.ศ.1887 – 1985)
ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนการแก้ปัญหา 4
ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่
1 ทำความเข้าใจปัญหา เป็นการสำรวจว่าในปัญหามีคำ
หรือวลี หรือประโยคย่อยๆ อะไรบ้าง
มีความหมายอย่างไร
แล้วจำแนกเป็นส่วนๆ ว่า
โจทย์กำหนดอะไรให้
สิ่งที่ต้องการหาคือคืออะไร
ข้อมูลที่กำหนดให้มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง
ขั้นที่ 2 วางแผนแก้ปัญหา เป็นขั้นการวิเคราะห์รายละเอียดและหาความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลที่กำหนดกับสิ่งที่ต้องการหา โดยใช้บทนิยาม
สมบัติ และทฤษฎีบทต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มาก่อนแล้ว ในการพิจารณาอาจใช้วิธีการต่างๆ
เพื่อช่วยให้ได้ข้อสรุปที่สามารถดำเนินการแก้ปัญหาและหาคำตอบได้ เช่น การวาดรูปประกอบ การสร้างตารางวิเคราะห์ การแยกสถานการณ์หรือเงื่อนไขเป็นส่วนย่อยๆ เป็นต้น
ขั้นที่
3 ดำเนินการแก้ปัญหา
เป็นขั้นของการแก้ปัญหาตามแผนที่วางไว้
และมีการตรวจสอบแต่ละขั้นตอนที่ปฏิบัติว่าถูกต้องหรือไม่
ขั้นที่ 4 ตรวจสอบผล เป็นการตรวจสอบผลที่ได้ในแต่ละขั้นตอนว่าถูกต้องหรือไม่ หรือใช้วิธีการแก้ปัญหาวิธีอื่นๆ แล้วตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้ว่าตรงกันหรือไม่ หรืออาจใช้การประมาณคำตอบอย่างคร่าวๆ
คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าขั้นตอนการแก้ปัญหาของโพลยาทั้ง 4
ขั้นตอน เป็นขั้นตอนที่เรียงลำดับเป็นแนวเส้นตรง ดังแผนภาพ
รูปแบบเช่นนี้ทำให้เข้าใจกันว่ากระบวนการแก้ปัญหาของโพลยาเป็นชุดของขั้นตอนการแก้ปัญหา
เป็นกระบวนการในแนวตรง ซึ่งต้องดำเนินการไปทีละขั้นตามลำดับห้ามข้ามขั้น และเน้นการได้คำตอบ ปัจจุบันมีการปรับปรุงกระบวนการแก้ปัญหา 4
ขั้นตอนของโพลยาขึ้นใหม่ โดยเสนอเป็นกรอบแนวคิดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่แสดงการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ในทุกขั้นตอน
ดังแผนภาพต่อไปนี้
ในแต่ละขั้นตอนสามารถพิจารณาตัดสินใจเคลื่อนการกระทำไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง
หรืออาจจะย้อนกลับไปขั้นตอนเดิมหากมีปัญหาหรือข้อสงสัย เช่น
เมื่อทำการแก้ปัญหาในขั้นตอนแรกคือทำความเข้าใจปัญหาแล้วเคลื่อนไปสู่ขั้นการวางแผน ระหว่างการดำเนินการในขั้นการวางแผนนั้นอาจย้อนกลับไปค้นพบสิ่งที่ทำให้เข้าใจปัญหาได้ดียิ่งขึ้น
หรือในขั้นตอนดำเนินการตามแผนที่วางไว้แต่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
จำเป็นต้องย้อนกลับไปเริ่มวางแผนใหม่ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น